ด้วยความมุ่งมั่นจากการลองผิดลองถูก สู่การเป็นเจ้าของธุรกิจ

หน้าที่ของผู้ประกอบการ

ผู้ประกอบการมีหน้าที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในด้านต่างๆ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความพอใจสูงสุด ผู้ประกอบการมีหน้าที่รับผิดชอบทั้งเรื่องการผลิต เงินทุน บริหารการตลาด ตลอดจนจัดหาบุคคลที่มีคุณภาพมาทำงานด้วย

เส้นทางสู่การเป็นผู้ประกอบการ

เริ่มจากเรียนคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนื่องจากเป็นคณะที่ตอนสอบจะต้องเขียนเยอะมากๆ หลายคนจะเริ่มทำตามที่ตัวเองชอบจึงเกิดอาชีพใหม่ขึ้นมาหลายอาชีพ เช่น บิวตี้บล็อกเกอร์ในยุคแรกๆ หรือทำเพจท่องเที่ยว เป็นต้น ตอนแรกคิดว่าตัวเองเหมาะที่จะทำงาน HR หรือ Marketing แต่พอเริ่มทำงานประจำจริงๆ มาได้ประมาณ 1 ปี เริ่มรู้สึกว่ามันไม่ใช่ รู้สึกตัวเองเหมือนหุ่นยนต์ที่ต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน ตอนนั้นเลยสำรวจตัวเองว่า เรามีข้อดีและข้อเสียอะไรที่จะนำพาตัวเราไปสู่อาชีพอื่น อย่างแรกเลยคิดว่าตอนอยู่มหาลัยชอบมีคนทักบ่อยมาว่าซื้อเสื้อผ้าที่ไหน อันนี้ที่ไหน สวยจังอะไรประมาณนี้ สองคือเป็นคนชอบเสื้อผ้าอยู่แล้ว แต่เป็นคนไม่ค่อยซื้อเสื้อผ้าตามกระแสแฟชั่นตั้งแต่เด็ก ก็เลยคิดว่าอยากทำแบรนด์เสื้อผ้า ตอนนั้นมีเสื้อผ้าหลายแบบที่อยากใส่ แต่ไม่มีขาย เริ่มจากไปสำเพ็งในขณะที่ตอนนั้นทำงานประจำอยู่ จากนั้นก็เริ่มศึกษาเนื้อผ้าต่างๆ ว่าผ้าประเภทไหนเหมาะกับการนำมาทำอะไร ใช้เวลาลองผิดลองถูกอยู่นานพอสมควร ส่วนตัวเป็นคนค่อนข้างมุ่งมั่นมาก จากที่ไม่มีความรู้อะไรมาแต่แรก ก็ค่อยๆ เริ่มศึกษา ถามจากเพื่อนที่พอจะแนะนำได้บ้าง ลองค้นคว้าหาข้อมูลบ้าง จึงเริ่มปะติดปะต่อสร้างงาน collection แรกขึ้นมา

จุดเริ่มต้นของการเป็นผู้ประกอบการ

เริ่มจากการเอาผ้ามาลองผิดลองถูกอยู่ประมาณ 6 – 7 เดือน ช่วงนั้นนอกจากต้องศึกษาเรื่องผ้าแล้ว เรื่องการสื่อสารกับช่างก็สำคัญ เพราะว่าเป็นคนไม่ถนัดวาดรูป แต่คิดออกมาได้ว่าอยากทำแบบไหน สุดท้ายก็สื่อสารกับช่างจนได้ออกมาเกิดเป็น collection แรกขึ้นมา เริ่มต้นประมาณ 3 – 4 แบบ ช่วงนั้นมีเพื่อนๆ คอย support ตลอด หลายๆ เรื่อง เช่น ช่วยมาถ่ายสินค้าให้ ช่วยทำ artwork ให้ เพราะเพื่อนรู้ว่าเราเริ่มมาจากศูนย์ ยังไม่มีทักษะใดๆ เกี่ยวกับงานนี้ สุดท้ายโชคดีขายดีตั้งแต่เริ่มแรก ซึ่งเดือนแรกที่ขายได้เงินเยอะกว่างานประจำอีก รู้สึกว่าจริงๆ เราก็ทำได้ สามารถใช้ชีวิตได้แบบปกติ ส่วนมากเราถนัดที่จะทำอะไรหรือคิดอะไรคนเดียวคล่องมากกว่าทำงานหลายๆ คน ช่วงแรกๆ จะเป็นคนรู้จักหรือเพื่อนที่มาซื้อของเรา และสมัยนั้นมันมีอีเวนต์ชื่อ ZAPP ON SALE มีเพื่อนที่เป็นดาราชื่อ อาย กมลเนตร อายได้พื้นที่ออกบูธฟรีมา ซึ่งเขาก็ทำของขายเล็กๆ น้อยๆ อายก็ชวนให้เรามาแชร์พื้นที่ขายสินค้า บวกกับเริ่มแจกนามบัตรทำให้คนเริ่มมาติดตามใน IG พอนานเข้าแบรนด์เริ่มเป็นที่รู้จัก ก็สามารถเริ่มเช่าบูธเองได้ ส่วนเรื่องการถ่ายแบบจะเน้นไปที่คนที่ใส่เสื้อผ้าเราและดูสวย หลังจากที่ทำมาได้ประมาณ 1 ปี เริ่มโอเคกับการขายเสื้อผ้า เริ่มมีการถ่ายแบบจริงจังมากขึ้น รูปเริ่มเป็น pattern หลังจากนั้นก็จ้างช่างภาพถ่ายรูปตลอด ซึ่งรูปเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะต่อให้สินค้าดีแค่ไหน ถ้าถ่ายรูปไม่สวย ลูกค้าก็ไม่อยากซื้อ พอเวลาผ่านไปเรื่อยๆ เรารู้ตัวเองมากขึ้นว่าควรทำเสื้อแบบไหน กางเกงแบบไหน มีถ่าย collection ใหม่ทุกๆ 3 เดือน  ขายมาจนเข้าปีที่ 8 มีทั้งช่วงที่ขายดีมากๆ และช่วงที่เงียบๆ ก็มี พอขายเสื้อผ้าผ่าน IG มา 8 ปี กุญแจสำคัญที่ทำให้แบรนด์อยู่ได้นาน คือการที่ลูกค้ากลับมาซื้อเสื้อผ้ากับเราซ้ำอีก โดยเน้นการตัดเย็บที่สามารถใส่ได้นาน เป็นแบรนด์เสื้อผ้าที่สามารถใส่ได้ทุกวัน และสามารถใส่กับชุดอื่นๆ ได้ ลูกค้าซื้อเสื้อผ้าเราเพราะแบรนด์ก็มี นางแบบก็มี หรือเจ้าของแบรนด์ก็มีเช่นกัน เราเป็นคนที่จริงจังทุกกระบวนการทำในทุกขั้นตอน ให้ความสำคัญทั้ง Production การตลาด และการรักษามาตรฐานของแบรนด์ รวมทั้งการบริการต่างๆ เพราะจะคิดเสมอว่า แบรนด์ใหม่ๆ เกิดขึ้นมาเยอะมาก เรื่องการบริการจึงเป็นอีกเรื่องสำคัญที่ละเลยไม่ได้อย่างเด็ดขาด

คุณสมบัติของผู้ประกอบการ

1. ต้องรู้ว่าตัวเองชอบอะไร และลองทำอย่างมั่นใจ

2. มีวินัยในตัวเอง

3. ต้องเข้าใจกลุ่มลูกค้าจริงๆ 

4. เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ใฝ่รู้อยู่เสมอ เพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ทำให้สามารถปรับตัวได้เสมอ

5. ต้องมีความสม่ำเสมอ

6. ต้องเป็นคนที่มีความอดทน ไม่ท้อถอยง่าย 

7. มีเครือข่ายดี เพื่อที่จะทำให้ได้ประโยชน์ทั้งด้านข้อมูล และการได้รับความช่วยเหลือด้านต่างๆ จากเพื่อนๆ หรือเครือข่ายได้เป็นอย่างดี

โอกาสความก้าวหน้าของอาชีพผู้ประกอบการ

โอกาสและความก้าวหน้าของผู้ประกอบการขึ้นอยู่กับปัจจัยหลักๆ คือการบริหารจัดการในทุกๆ ด้านของของผู้ประกอบการให้ธุรกิจดำเนินและเติบโตขึ้นได้เรื่อยๆ 

คณะที่เกี่ยวข้อง

คณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ

– วิทยาลัยผู้ประกอบการ

– คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี สาขาการจัดการเพื่อเป็นผู้ประกอบการธุรกิจ

– คณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการประกอบการและการจัดการ

– คณะบริหารธุรกิจ

ที่มาของรายได้

รายได้ที่ได้รับจะขึ้นอยู่กับยอดขาย และความสามารถในการบริหารจัดการ

ขอขอบคุณ : คุณชิดชนก สุจินพรัหม (มิ้ม) เจ้าของแบรนด์ Behers

credit-2-3

เรื่อง :

กมลชนก ฉ่ำแสง

ภาพ :

อ่านพี่ขอเล่าเรื่องอื่น ๆ

Scroll to Top