นักจิตวิทยาการปรึกษา สร้างพื้นที่เพื่อหาทางออก พูดคุยเพื่อทำความเข้าใจในตนเอง

นักจิตวิทยาการปรึกษามีหน้าที่ทำอะไร

ลักษณะงานที่ทำจะเป็นการพูดคุยกับผู้ที่มารับบริการปรึกษา เพื่อชวนให้ผู้รับบริการได้ใช้พื้นที่ตรงนี้พูดคุย ทำความเข้าใจปัญหาที่รบกวนจิตใจและความรู้สึกที่เขาไม่สบายใจอยู่ หรือทำความเข้าใจเกี่ยวกับตัวเองว่าตอนนี้มันเกิดอะไรขึ้นในใจเขา และใช้พื้นที่ตรงนี้ในการค่อยๆ หาทางออกจากความรู้สึกไม่สบายใจที่เขากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน 

ลักษณะการบริการปรึกษาในประเทศไทยเป็นอย่างไร

ปัจจุบันมีศูนย์ที่ให้บริการจิตวิทยาอยู่ค่อนข้างหลากหลายในประเทศไทย มีทั้งที่เป็นสวัสดิการฟรีให้นิสิตนักศึกษา และมีบริการฟรีหลายรูปแบบสำหรับบุคคลทั่วไป เช่น คณะจิตวิทยา จุฬาฯ ร่วมกับ สสส. จัดตั้งโครงการชื่อว่า Hear to Heal ซึ่งผู้สนใจรับบริการพิมพ์เข้าไปนัดหมายในระบบ LINE Official ทำนัดหมายเพื่อพูดคุยปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตได้ฟรี หรือว่าระบบสายด่วน ของกรมสุขภาพจิตก็โทรเข้าไปได้ หรือ สมาคมสะมาริตันส์ ศูนย์สุขภาวะทางจิต คณะจิตวิทยา จุฬาฯ ก็มีบริการสายด่วนเหมือนกัน นอกจากนี้ก็จะมีระบบเก็บค่าบริการ ช่วงก่อนที่ยังไม่มีโควิด ก็จะใช้วิธีนัดเจอพูดคุยและเก็บค่าบริการ อย่างเช่นที่ KNOWING MIND CENTER หรือว่าศูนย์สุขภาวะทางจิต คณะจิตวิทยา จุฬาฯ เมื่อก่อนก็คุยแบบเจอหน้า แต่พอเข้าสู่ยุคโควิดทุกอย่างก็เริ่มปรับมาเป็นออนไลน์ เพราะฉะนั้น การให้บริการ การปรึกษาเชิงจิตวิทยา ก็จะมีลักษณะที่เป็นออนไลน์เพิ่มมากขึ้น อย่างเช่น คุยผ่าน Zoom คุยผ่าน Skype ก็เริ่มมีเพิ่มมากขึ้น คิดว่าถ้าโควิดกลับมาเข้าสู่สภาวะปกติ ก็น่าจะกลับมาคุย on site เยอะขึ้นเป็นหลักเหมือนเดิม แต่ออนไลน์ก็คงยังอยู่ 

นอกจากนี้ นักจิตวิทยาอาจทำงานในโรงพยาบาล  โดยทำงานร่วมกันกับจิตแพทย์ หรือนักสังคมสงเคราะห์ สำหรับในสายธุรกิจองค์กร นักจิตวิทยาการปรึกษาอาจให้คำปรึกษาแก่พนักงานบริษัท ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทว่าสนใจเพิ่มสวัสดิการนี้ให้กับพนักงานของเขามากน้อยแค่ไหน 

เส้นทางสู่การเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษา

ตอนแรกไม่ได้สนใจอาชีพนักจิตวิทยาการปรึกษา เพราะเราไม่รู้จัก ด้วยความที่งานจิตวิทยาการปรึกษาในประเทศไทยอาจจะมีจำกัด ไม่ค่อยแพร่หลายเท่าไรในยุคที่เราเรียน เพราะฉะนั้นตอนที่เลือกเรียนต่อสาขานี้ มาจากการสนใจในเรื่องของทักษะของการปรึกษาเชิงจิตวิทยาล้วนๆ อยากจะรู้ว่าการพูดคุยกับคนอื่น ทำความเข้าใจเขา และช่วยทำให้เขาเข้าใจตัวเอง มันทำยังไง เราจะทำยังไงให้เราเข้าใจเขา เราจะทำยังไงให้เขาหายกังวลเวลาที่พูดคุยกับเราเท่านั้นเอง คือเราอยากรู้ว่ามันต้องทำยังไง จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราเรียนต่อสาขานี้ระดับปริญญาโท เพราะตอนที่เราเรียนปริญญาตรีไม่ได้เรียนเกี่ยวกับจิตวิทยาการปรึกษาโดยตรง แต่ว่าเรียนจิตวิทยาเป็นวิชาโท คือเรียนเสริมมาจากคณะอักษรศาสตร์ ตอนนั้นวิชาเอกที่เลือกเรียนเป็นเอกภาษาและวรรณคดีไทยไปแล้ว ทีนี้เราสามารถเลือกเรียนวิชาโทเพิ่มได้ อาจจะเป็นวิชาโทในคณะหรือนอกคณะก็ได้ เราจึงเลือกไปเรียนคณะจิตวิทยา ทำให้พอได้รู้จักกับวิชาจิตวิทยาแบบกว้างๆ ซึ่งจิตวิทยาแบ่งเป็นหลายสาขา มีจิตวิทยาพัฒนาการ จิตวิทยาสังคม จิตวิทยาทั่วไป  จิตวิทยาองค์กร แล้วก็จิตวิทยาการปรึกษาเราก็ไปลงเรียนวิชาเบื้องต้นของแต่ละสาขา

ตอนจบปริญญาตรีคิดว่าพอแล้วไม่ได้อยากจะเรียนต่อปริญญาโท เพียงแต่ว่าพอเราไปทำงานที่เกี่ยวกับหนังสือ ทำงานที่สำนักพิมพ์ มันทำให้เราได้เจอคนเยอะขึ้น พบปะผู้คนเยอะขึ้นเวลาทำโครงการอะไรต่างๆ และเริ่มรู้สึกว่าจริงๆ การที่เราเข้าใจคนอื่น หรือการที่คนอื่นคุยกับเราแล้วเขารู้สึกสบายใจ มันเป็นสิ่งสำคัญนะ เราเริ่มเห็นความทุกข์ของคนอื่นเพิ่มมากขึ้นในการทำงาน มีคนที่มีความทุกข์ ความกังวลในหลายๆ เรื่องในชีวิตของเขา พอเราเห็นปุ๊บเราก็เริ่มรู้สึกว่าเราจะทำยังไงดี เราอยากรู้เพิ่ม ถึงนำมาสู่การที่เราเริ่มค้นหาว่าเราจะเรียนต่อสาขานี้ต่อดีมั้ย 

จุดเริ่มต้นของการเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษา

เรียนจบจากคณะจิตวิทยา สาขาจิตวิทยาการปรึกษา ปริญญาโท จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งก่อนหน้านั้นทำงานเกี่ยวกับหนังสือ เพราะว่าตอนที่เรียนปริญญาตรี เรียนคณะอักษรศาสตร์ สาขาภาษาและวรรณคดีไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พอเรียนจบปริญญาตรี เข้าไปทำงานสำนักพิมพ์อยู่ 2 ปี และลาออกมาเพื่อเรียนต่อปริญญาโท สาขาจิตวิทยาการปรึกษา

คุณสมบัติของนักจิตวิทยาการปรึกษา

1.ต้องตระหนักรู้และตกผลึกในตัวเอง

2.มีใจรักที่จะช่วยเหลือผู้อื่น

3.มีความสนใจพฤติกรรมของมนุษย์ สังคม รวมไปถึงสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว

คณะที่เกี่ยวข้อง

– คณะจิตวิทยา

– คณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาจิตวิทยา

– คณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาจิตวิทยา

– คณะสังคมศาสตร์ สาขาวิชาจิตวิทยา

– คณะศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาจิตวิทยา

รายได้ของอาชีพนักจิตวิทยา

ขึ้นอยู่กับลักษณะการบริการ และองค์กรที่นักจิตวิทยาเข้าไปร่วมปฏิบัติงาน

ขอขอบคุณ : สโรชา กิตติสิริพันธุ์ (คุณพลอย) ที่ปรึกษาสุขภาพจิตออนไลน์และนักจิตวิทยาประจำโครงการของคณะจิตวิทยาและหน่วยส่งเสริมสุขภาวะนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

credit-2-3

เรื่อง :

กมลชนก ฉ่ำแสง

ภาพ :

อ่านพี่ขอเล่าเรื่องอื่น ๆ

Scroll to Top