ศิลปินสร้างศิลปะ การตั้งคำถามสร้างแรงบันดาลใจ

ศิลปินมีหน้าที่อะไร

ศิลปิน คือ นักสร้างสรรค์ นวัตกรรมทางความคิดทำให้ผู้ชม เกิดอารมณ์ความรู้สึกร่วม เช่น ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้มาชมได้ขบคิด ได้ตระหนัก ได้เห็น และเกิดมุมมองใหม่ๆ   ศิลปะประกอบไปด้วยหลากหลายแขนง ทั้งภาพวาด งานปั้น ภาพพิมพ์ ภาพถ่าย สื่อผสม มัลติมิเดียต่างๆ การแสดงก็เป็นงานศิลปะ การทำภาพยนตร์ นาฏศิลป์ บัลเลต์ ละครเวที เป็นต้น

เส้นทางสู่การเป็นศิลปิน

เมื่อสมัยเด็กๆ เราชอบวาดรูปมากและอยู่กับมันได้นาน จึงมองว่านี่แหละน่าจะเป็นสิ่งที่เราใฝ่ฝัน แต่ตอนนั้นเรายังไม่รู้ว่ามันคือศิลปินหรืออะไร ตอนนั้นสับสนอยู่ว่าที่ทำอยู่เป็นอะไรกันแน่ เพราะที่บ้านไม่มีใครเป็นศิลปินเลย คุณแม่เป็นพยาบาล คุณพ่อเป็นวิศวกรไฟฟ้า ที่บ้านไม่มีใครจบสายตรงด้านนี้ ในช่วงแรกจึงเกิดคำถามตลอดเวลา เกี่ยวกับสิ่งที่เราสนใจ แต่ตนเองจึงเลือกจะมุ่งมั่น ทำสิ่งนั้นเรื่อยๆ และทำทุกวันเพื่อพิสูจน์ให้ที่บ้านเห็นว่า เรามุ่งมั่นในการทำสิ่งที่เราชอบ ในสมัยเรียนมัธยม ได้เข้าร่วมแข่งวาดรูป ได้รางวัลมาก็เก็บเป็นพอร์ตไว้ พอถึงมัธยมปลาย ตนเองเลือกจะเรียนเรียนสายวิทย์ – คณิต เพราะตนเองมองว่าการที่เราจะเป็นศิลปิน คุณจะเรียนสายอะไรก็ได้เลย ศิลป์ – ภาษา หรือ วิทย์ – คณิต ก็ได้เรียนได้หมด และเราก็รู็สึกว่าชอบหลายๆ อย่าง ไม่ใช่แค่งานศิลปะอย่างเดียว เราชอบเรียนวิทยาศาสตร์ เรียนชีวะ เรียนเคมี มันสนุก การทดลองในวิชาวิทยาศาสตร์ ก็เหมือนกับการทดลองและค้นหาเทคนิคใหม่ๆ ในด้านศิลปะ จนกระทั่งสอบตรงเข้า ภาควิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งที่ผ่านมามีน้องๆ หลายคนมาขอคำปรึกษา ส่วนใหญ่จะบอกว่า ที่บ้านไม่อยากให้เรียน เพราะกลัวจะไม่มีงานทำ ซึ่งในช่วงแรกที่บ้านก็มีความกังวลเช่นกัน แต่ตนเองมองว่า สิ่งนี้คือความกลัวของที่บ้าน เพราะเป็นสิ่งแปลกใหม่ที่เขาไม่รู้มาก่อน ตนเองจึงแก้ปัญหาโดยการพาที่บ้านไปดูงานศิลปะ ไปเห็นกระบวนการทำงานของตนเอง ของเพื่อนๆ ตั้งแต่สมัยเรียนจนถึงทำงาน ทำให้ที่บ้านเข้าใจเรื่องราวของศิลปะมากขึ้น เช่น หากิจกรรมงานศิลปะ ให้ที่บ้านมีส่วนร่วมในการทำ เพื่อให้คลายความกังวลในใจในสิ่งที่พวกเขาไม่รู้ลง ซึ่งปัจจุบันที่บ้านก็เข้าใจตนเองมากขึ้น และสนับสนุนเราอย่างเต็มที่ ผลงานทุกชิ้นในปัจจุบัน ก็เกิดจากตนเองและครอบครัวร่วมกันจัดทำด้วย

เรามีแนวคิดว่าถ้าเรามุ่งมั่นกับอะไรสักอย่าง เราจะตั้งเป้า และทำมันได้ เราจึงมุ่งมันตั้งใจอ่านหนังสือ ตอนนั้นอยากเข้าคณะศิลปกรรมศาสตร์ อ่านตั้งแต่ประวัติศาสตร์ศิลป์ ประวัติศาสตร์ตะวันตก ประวัติศาสตร์ตะวันออก ประวัติศาสตร์ไทยที่เกี่ยวกับศิลปะ เราอ่านทำความเข้าใจ ว่ามีที่มาที่ไปยังไง คนที่มีชื่อเสียงระดับโลกและในประเทศไทยมีใครบ้าง ทำข้อสอบย้อนหลังล่วงหน้า 10 ปี ทำทุกๆ วัน จนสามารถคาดเดาแนวทางของข้อสอบได้  โดยเราจะลิสต์ออกมาเลย ข้อไหนที่รู้สึกว่าเราทำไม่ได้เราก็จดไว้เพื่อเป็นประเด็นในการทบทวนครั้งต่อไป  และข้อสอบประเภท ทักษะต่างๆ ที่ต้องวาด สร้างสรรค์ จะมีตั้งแต่ข้อสอบ drawing วาดคนเหมือน  และข้อสอบในเชิงสร้างสรรค์ และลงสี ตนเองก็ได้ฝึกฝนอย่างหนักทำทุกวัน เพราะเป็นวิชาทักษะที่ต้องทำซ้ำๆ วันธรรมดาเรียนเสร็จบ่ายสองหรือบ่ายสาม ตนเองก็ไปเรียนกับรุ่นพี่จากเพาะช่าง จนถึงสามทุ่มทุกวัน ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ เรียนตั้งแต่แปดโมง ถึงสามทุ่ม เป็นแบบนี้ตลอดระยะเวลาประมาณ 6 เดือน ก่อนสอบจริง ตอนนั้นมีความมุ่งมั่นว่า จะต้องทำให้ได้เพื่อได้ทำในสิ่งที่ตนเองชอบอย่างแท้จริง

จุดเริ่มต้นของอาชีพศิลปิน

หลังจากเรียนจบก็ไปสมัครงานประจำ อยากเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานในระบบ องค์กรต่างๆ มีโอกาสได้เป็น นักประชาสัมพันธ์  กับบริษัทพีอาร์เอเจนซี่ ตนเองได้รับโอกาสจากพี่เจ้าของบริษัท ให้ได้ฝึกเขียนข่าว ติดต่อกับลูกค้า สิ่งนี้ทำให้เราเปิดโลกของตนเองมาก งานประชาสัมพันธ์ช่วยทำให้เราเป็นคนที่สื่อสารได้ชัดเจนมากขึ้น มีโอกาสได้ทำงาน Visual Merchandiser (VM) หรือนักออกแบบผู้เชี่ยวชาญด้านการตกแต่งหน้าร้าน และการสร้างบรรยากาศให้กับร้าน  ได้เรียนรู้การจัดการ ทุกงานมีแนวคิดมีคอนเซ็ปต์ที่ต้องการสื่อสารกับผู้ซื้อทั้งหมด ทำอย่างไรให้สินค้าที่มีในร้านน่าสนใจ และขายได้ ด้วยการสื่อสารผ่าน สี แสง การจัดวาง นี่คือหน้าที่ VM คือนำเรื่องราวของศิลปะ ผสมกับหลักการตลาดเข้ามาเกี่ยวข้อง ตนเองทำงานประจำเพื่อสะสมประสบการณ์ และทำควบคู่กับการทำงานศิลปะที่ตนเองชอบ เป็นระยะเวลา 5 ปี แล้วจึงออกจากงานประจำ เพื่อมาทำศิลปะอย่างเต็มตัว เราเชื่อว่า กระบวนการที่เราได้เรียนรู้จากการทำงานประจำ คือสิ่งที่หล่อหลอมให้เรามีทุกวันนี้ ได้เข้าใจโลกภายนอกมากขึ้น ได้รู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้และไม่ถนัด สิ่งเหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจ และองค์ความรู้ในการสร้างงานศิลปะของตนเองเสมอมา

คุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพศิลปิน

1. ศึกษาเรียนรู้สิ่งต่างๆ สิ่งใหม่ๆ รอบตัวอย่างสม่ำเสมอ 

2. มีวินัยในการทำงาน

3. ชอบทดลอง ชอบสังเกต และตั้งคำถามกับสิ่งรอบๆตัว

4.ทำตัวให้เป็นน้ำที่ไม่เต็มแก้วเสมอ เพราะจะได้เจอกับประสบการณ์ใหม่ๆ สิ่งใหม่ๆ ที่จะทำให้มีแรงบันดาลใจในการทำงานศิลปะ

5.เคารพผลงานตนเอง และเคารพผลงานผู้อื่น

คณะที่เกี่ยวข้อง

– คณะศิลปกรรมศาสตร์

– คณะวิจิตรศิลป์

– คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์

– คณะมัณฑนศิลป์

– คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

– หรือคณะอื่นๆ แม้จบไม่ตรงสายก็สามารถทำงานศิลปะได้

โอกาสความก้าวหน้าของศิลปิน

การทำงานศิลปะอย่างมุ่งมั่นต่อเนื่อง และมีเอกลักษณ์ที่ชัดเจน การมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อเพื่อนศิลปิน คนรอบข้าง และทุกๆ คนอย่างจริงใจ นอกจากฝีมือที่ดีแล้วโอกาสก็จะเข้ามาหาจากการมีความสัมพันธ์ที่ดีเช่นกัน ทั้งโอกาสและความสามารถ ต้องรักษา และทำควบคู่กันไป 

ที่มาของรายได้

  1. ผลงานศิลปะของตนเอง
  2. คุณครูสอนศิลปะ หรืออาจารย์มหาวิทยาลัย
  3. เจ้าของ สถาบันสอนศิลปะ เด็ก หรือผู้ใหญ่
  4. ผู้เชี่ยวชาญ-ที่ปรึกษา ในสาขาศิลปะ ที่ตนเองถนัด
  5. สามารถประยุกต์ไปยังสายวิชาชีพที่ใกล้เคียง เช่น สายครีเอทีฟ สายโฆษณา สายกราฟิกดีไซน์ สายออกแบบต่างๆ  หรือวงการบันเทิง สื่อ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ ฯลฯ

เทคนิคการขายของ : เรียนรู้ และปรับตัวอยู่ตลอดเวลา ให้เข้ากับสถานการณ์ หมั่นฝึกฝนทำงาน ทำอย่างต่อเนื่อง จัดแสดงนิทรรศการของตนเอง หรือมีงานของตนเองนำเสนอต่อสาธารณชนทุกปี 
ขอขอบคุณ : คุณวิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ (เอ๋) Social Activist Artist / WISHULADA

credit-2-3

เรื่อง :

กมลชนก ฉ่ำแสง

credit-2

ภาพ :

จรรสมณท์ ทองระอา

อ่านพี่ขอเล่าเรื่องอื่น ๆ

Scroll to Top