สร้างสรรค์ผลงานผ่านเทคโนโลยี กับอาชีพกราฟิกดีไซเนอร์

กราฟิกดีไซเนอร์มีหน้าที่อะไร

สร้างสรรค์ผลงานผ่านเทคโนโลยี หรือการนำศิลปะและเทคโนโลยีมาผสมผสานกัน ออกมาเป็นงานที่สร้างสรรค์ผ่านภาพและตัวอักษร เพื่อใช้ในการสื่อสาร เช่น ออกแบบโลโก้ ออกแบบตัวอักษร โปสเตอร์ รีทัชรูปภาพ ออกแบบบรรจุภัณฑ์ ดราฟงานตามแบบหรือวาดเอง โดยใช้โปรแกรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Photoshop, Illustrator, Procreate, SketchUp ฯลฯ  โดยมีองค์ประกอบที่ใช้ในการทำงานอันประกอบด้วยภาพ และ/หรือ ตัวอักษรเป็นสำคัญ ผู้ออกแบบอาศัยทักษะ ทฤษฎี หลักการ หรือ กระบวนการคิด มาช่วยในการแก้ปัญหา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสาร การเข้าถึงข้อมูลหรือในการรับรู้

เส้นทางสู่การเป็นกราฟิกดีไซเนอร์

ตั้งแต่เด็กตอนอายุประมาณ 13 – 14 ปี ชอบเกี่ยวกับวิศวกรรม การต่อวงจรไฟฟ้า บวกกับการชอบวาดรูป แต่พอเกิดเหตุการณ์ทำให้ไม่สามารถเดินได้ จึงหันมาสนใจทางด้านการวาดรูปแทน ตอนแรกไม่ได้ตั้งใจมาทำอาชีพกราฟิกดีไซน์ แต่เมื่อรู้ว่าตัวเราเองชอบอะไรก็คอยศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับกราฟิกดีไซน์ ซึ่งสมัยก่อนมีข้อมูลน้อยมาก ข้อมูลส่วนใหญ่ได้มาจากการแนะแนวของโรงเรียนเท่านั้น ไม่เหมือนกับตอนนี้ที่เวลาเราอยากหาข้อมูลอะไรก็สามารถหาได้จากอินเทอร์เน็ตอย่างรวดเร็ว ตอนนั้นไปสอบถามอาจารย์ก่อนเอนทรานซ์ และไปสอบเกี่ยวกับวาดรูปเป็นหลัก ทำให้ได้มาเรียนที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งตอนเรียนมหาวิทยาลัยก็จะปูพื้นฐานเกี่ยวกับกราฟิกดีไซน์มาตั้งแต่ต้น

ประเภทของภาพกราฟิก

1. ภาพกราฟิกแบบ 2 มิติ เป็นภาพที่เราพบเห็นโดยทั่วไป เช่น ภาพถ่าย รูปวาด ภาพลายเส้น สัญลักษณ์ เป็นต้น

2. ภาพกราฟิกแบบ 3 มิติ เป็นภาพกราฟิกที่ใช้โปรแกรมสร้างภาพโดยเฉพาะ เช่น โปรแกรม SketchUp, Revit, Blender, 3ds Max, SolidWorks เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ได้ภาพมีสีและแสงเงาเหมือนจริง เหมาะกับงานด้านสถาปัตย์และการออกแบบต่างๆ รวมถึงการสร้างเป็นภาพยนตร์การ์ตูนหรือโฆษณาสินค้าต่างๆ 

คุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพ

1. มีความคิดสร้างสรรค์ และมีไอเดียที่แปลกใหม่เสมอ

2. พร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดเวลา เพราะเทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ต้องกล้าที่จะลองใช้ Software ใหม่ ๆ ที่มีการอัปเดตอยู่เสมอ จะทำให้เราได้ใช้เครื่องมือใหม่ ๆ ในการพัฒนางานให้ดียิ่งขึ้น

3. สามารถใช้โปรแกรมต่างๆ ในคอมพิวเตอร์ ได้เป็นอย่างดี เช่น  Word, Excel, Internet, Photoshop, Illustrator เป็นต้น

4. มีทักษะการเจรจาต่อรอง มีบุคลิกภาพและมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี

5. มีความอดทน เพราะอาจจะเจอความจุกจิก และแรงกดดันจากลูกค้า 

6. มีความละเอียดรอบคอบ ซึ่งมีความจำเป็นอย่างมาก ต้องคิดให้รอบด้านทุกรายละเอียด

คณะที่เกี่ยวข้อง 

– คณะศิลปกรรมศาสตร์

– คณะมัณฑนศิลป์

– คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

– คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ

– หลักสูตรนานาชาติ สาขาออกแบบนิเทศศิลป์

– คณะวิจิตรศิลป์

– คณะครุศาสตร์

– คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

– คณะศิลปประยุกต์และการออกแบบ

– คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม

– คณะดิจิทัลมีเดีย

– คณะดิจิทัลอาร์ต

– คณะนิเทศศิลป์

ที่มาของรายได้

1.​ พนักงานประจำ เริ่มต้นที่ 18,000 – 30,000 บาท ขึ้นไป

2. อิสระ ​​ตัวเราเป็นคนกำหนดราคาต่อชิ้นงานที่ทำ และเป็นคนกำหนดเรทการ์ดเอง ซึ่งรวมเรทค่าจ้าง + ค่าผลงานและประสบการณ์ = เรทการ์ด เช่น ค่าจ้างออกแบบ 1,500 – 2,000 บาท ต่อชิ้นงานบนโซเชียลมีเดีย หรือตามความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและหน้าที่ความรับผิดชอบ

*เรทการ์ด คือ เอกสารที่มีราคาและคำอธิบายสำหรับตัวเลือกการลงโฆษณารูปแบบต่าง ๆ ผ่านทางสื่อ หรือกล่าวอย่างง่าย ๆ คือ ค่าโฆษณาที่คุณตั้งขึ้นมานั่นเอง

ขอขอบคุณ  : นายเจษฎา เทพบรรเทิง (หนึ่ง) กราฟิกดีไซเนอร์

credit-2-3

เรื่อง :

กมลชนก ฉ่ำแสง

credit-2

ภาพ :

จรรสมณท์ ทองระอา

อ่านพี่ขอเล่าเรื่องอื่น ๆ

Scroll to Top