“เด็กพิการเรียนไหนดี” จากงานอีเวนต์สู่หลักสูตรออนไลน์เพื่อเด็กพิการ

สมบูรณ์ ชุติวิโรจน์กุล General Manager บริษัท กล่องดินสอ จำกัด หรือ ‘พี่สะมะ’ ผู้มีส่วนปลุกปั้นและดูแลโครงการ ‘เด็กพิการเรียนไหนดี’

การศึกษาเป็นประตูเปิดไปสู่โอกาส

การสอบเข้ามหาวิทยาลัย อาจเป็นของขมสำหรับเด็กนักเรียนหลาย ๆ คน แต่ยิ่งถ้าเป็นเด็กพิการ ความท้าทายก็มากกว่านั้นหลายเท่า ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยภายนอกเช่นเงื่อนไขของสถาบันการศึกษาเอง หรือปัจจัยภายในคือตัวเด็ก จึงไม่แปลกที่เราแทบไม่เห็นนักศึกษาพิการเรียนร่วมกับนักศึกษาไม่พิการในระดับอุดมศึกษา ต้องเข้าใจก่อนว่าปัญหาคนพิการมันมีหลายประเด็นทับซ้อน ซึ่งเราค้นพบว่าส่วนหนึ่งในรากของปัญหาเลยก็คือเรื่องการศึกษา การศึกษามันเป็นประตูเปิดไปสู่โอกาสใหม่ ๆ ของใครทุกคนบนโลกนี้ ไม่ใช่แค่คนพิการหรอก คนไม่พิการก็เหมือนกัน

บริษัทกล่องดินสอทำงานประเด็นคนพิการมาตั้งแต่แรก มีบริษัทอื่นที่ต้องการจ้างงานคนพิการ เราก็ช่วยหาคนให้ แต่ปรากฏว่าหายากมาก เอาแค่คุณสมบัติ 2 ข้อ ข้อแรกจบปริญญาตรี และข้อสอง พูดภาษาอังกฤษได้ ซึ่งสำหรับคนไม่พิการอาจหาได้ไม่ยาก แต่พอเป็นคนพิการ เราพบว่าสองข้อนี้แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

ความเป็นมาของ “หลักสูตร 3 ปั้น”

จุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญก็คือช่วง ม.ปลายนี่แหละ มีเด็กพิการจำนวนไม่น้อยที่ออกไปจากระบบการศึกษาในช่วงนี้ คือกว่าจะมาถึง ม. 6 ได้นี่น้อยแล้ว จาก ม. 6 ไปมหาวิทยาลัยยิ่งน้อยลงไปอีก เราก็เลยคิดที่จะทำโครงการ ‘เด็กพิการเรียนไหนดี’ เพื่อแนะแนวการศึกษา เพราะเราพบว่าหลาย ๆ ครั้ง แม้แต่ตัวเขาเองก็คิดว่า ‘จะเรียนไปทำไม’ จะกระเสือกกระสนไปทำไม จบแล้วไปเป็นอะไร จะมีงานรองรับหรือ ซึ่งโครงการนี้จะชวนเขาตั้งคำถามกับตัวเอง แล้วก็พยายามจะให้เขาเห็นถึงศักยภาพว่าจริง ๆ แล้วเขาไปได้ไกลมากกว่านั้น สุดท้ายแล้วเขาอาจจะไม่เรียนต่ออุดมศึกษาก็ได้นะ แต่เขาจะรู้ว่าเขาอยากทำอะไร มีโอกาสอะไรอีกบ้างที่เขาทำได้ เขาจะได้เห็นรุ่นพี่พิการที่เรียนและประกอบอาชีพที่หลากหลาย ที่ไม่ใช่แค่นวด ร้องเพลง ขายลอตเตอรี่ เขาก็อาจรู้สึกว่าสามารถลุกขึ้นมาเปลี่ยนชีวิตตัวเอง ทำให้ดีขึ้น นี่คือส่วนของการให้แรงบันดาลใจ และอีกส่วนก็จะเป็นงานแนะแนวการศึกษา ซึ่งการสอบเข้ามหาวิทยาลัยสมัยนี้ ขั้นตอนเยอะมาก สอบหลายรอบด้วย ต้องทำแฟ้มสะสมผลงานด้วย อย่าว่าแต่เด็กพิการเลย เด็กไม่พิการก็ยังลำบาก ซึ่งตรงนี้ก็ยังไม่มีใครให้ How To กับเด็กพิการเลย มันไม่มีใครเคยทำเลย เราเลยต้องไปขอร้องคุณครูที่ทำวิชาเหล่านี้ ไปปรึกษาว่าเราจะปั้นหลักสูตรแบบนี้นะ ครูคิดว่าได้ไหม ตอนแรก ๆ ครูบางท่านก็ไม่มั่นใจเพราะไม่เคยสอนเด็กไม่พิการมาก่อน แต่พอเริ่มจัดกิจกรรมไปครั้งสองครั้งก็เริ่มไปได้ ปีนี้ก็เลยจะเป็นปีที่เราพัฒนาเป็น 3 หลักสูตรนี้ขึ้นมา เรียกรวมกันว่า “หลักสูตร 3 ปั้น” ข้อแรกคือ ‘ปั้นฝัน’ คือการที่ให้เด็กรู้ก่อนว่าตัวเองชอบอะไร ชวนคิดเกี่ยวกับภาพชีวิตในอนาคต ปั้นที่สองคือ ‘ปั้นพอร์ต’ (portfolio) หรือแฟ้มสะสมผลงาน ก็คือการแนะแนวว่าน้อง ๆ จะรวบรวมผลงานอย่างไร ถ้าอยากจะเรียนบัญชี เรียนกฎหมาย ควรจะไปค่ายหรือทำกิจกรรมอะไรเพื่อให้ได้ใบประกาศมาสะสมเป็นผลงาน รวมถึงจะเล่าเรื่องตัวเองเขาเองอย่างไร วิเคราะห์และนำเสนอตัวเองอย่างไรเวลาทำแฟ้มสะสมผลงาน และปั้นที่สามก็คือ ‘ปั้นคำ’ เราเชิญอาจารย์ที่เขาสอนเรื่องพวกนี้ มาสอนเด็กตั้งแต่เรื่องพื้นฐาน เช่น ตอนไปสัมภาษณ์ต้องแต่งตัวอย่างไร จะรู้ได้อย่างไรว่าเรานั่งตรง ไม่ยุกยิก หรือจะรับมืออย่างไรกับคำถามที่ไม่อยากตอบ เช่น ถามว่าตาบอดได้อย่างไร คือเรื่องแบบนี้มันก็เกิดขึ้นได้ แต่ที่ผ่านมาองค์ความรู้พวกนี้มันแทบไม่ไปถึงเด็กพิการเลย

สถาบันการศึกษาให้ได้มากกว่าความรู้ คือทักษะการอยู่ร่วมกันกับผู้คนหลากหลายรูปแบบ

ไม่ใช่แค่คนอื่นจะเปิดรับเขา แต่ตัวเขาเองก็ได้เปิดรับคนอื่นด้วย ได้ไปเรียนร่วมกับคนอื่น ได้ทำงานกลุ่มร่วมกับคนอื่น อาจจะเจอประสบการณ์ดีบ้างไม่ดีบ้าง ก็แล้วแต่ แต่เขาได้เข้าใจการอยู่ร่วมในสังคม ไม่ได้แปลกแยกโดดเดี่ยว ถ้าคุณผ่านชีวิตในมหาวิทยาลัยสักปีสองปี มันจะช่วยให้อยู่ในสังคมได้เข้าใจมากขึ้น

ช่องว่างที่รัฐมองไม่เห็นหรือยังเข้าไม่ถึง

หลายอย่างยังขาดการสนับสนุน อย่างเช่น เรื่องเงิน เด็กพิการเรียนมหาวิทยาลัยได้ฟรี แต่ความเป็นจริง มันก็ฟรีแค่ค่าหน่วยกิต และขึ้นอยู่กับคณะ ภาควิชาด้วย ยังไม่นับรวมซัมเมอร์ด้วยนะ หรือว่าอาจารย์มีโครงงานอะไรเพิ่มอันนี้ก็ต้องควักเองหมด ค่าเดินทาง ค่าหอ หรือความพิการบางอย่างต้องการเครื่องมือในการช่วยเรียน ก็ไม่มี อันนี้ประเด็นแรกคือเรื่องเงิน และปัญหาอีกเรื่องที่ชัดเจนมากเลย รัฐบอกว่าเด็กพิการต้องเข้าเรียนได้ทุกคณะ คณะไหนก็ได้ แต่ในความเป็นจริง เมื่อไปสอบถามแต่ละคณะในแต่ละมหาวิทยาลัย แต่ละที่ตอบไม่เหมือนกันเลย บางคณะก็จะไม่ให้เด็กพิการเข้าเรียน ด้วยเหตุผลตื้น ๆ ว่า… ‘ที่คณะไม่มีลิฟต์’ หรือไม่มีล่ามก็เลยให้เรียนไม่ได้ ทั้งที่มันก็มีวิธีอื่นที่จะช่วยเหลือ เช่นหาเพื่อนช่วยเรียน ช่วยจดเลคเชอร์ หาอาสาสมัคร ซึ่งมหาวิทยาลัยเมืองนอกเขาก็ทำกันหรือบางคณะมันมีการตัดสินก่อนจะให้โอกาสได้เข้าไปเรียน ว่าเด็กพิการเรียนไม่ได้หรอก… ทั้งที่ถ้าให้โอกาสเขาอาจจะทำได้ก็ได้

ปรับรูปแบบมาสู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์

ตอนจัดงานที่กรุงเทพฯ เราก็ใช้อาสาสมัคร ตอนแรกก็ลังเลว่าจะเป็นไปได้ไหมแต่ก็พบว่ามีคนมากมายที่เขากระตือรือร้นที่จะเข้ามาเป็นอาสาฯ ปีนี้จึงเป็นปีแรกที่เราจัดโครงสร้างอาสาสมัครขึ้นมา เป็นโครงสร้างระยะยาว เป็นการเอา 3 วิชาที่เราเคยจัดตอน one day event มาจัดเป็นโครงสร้างหลักสูตร 8 อาทิตย์ เรียนเฉพาะวันอาทิตย์ ครั้งละ 3 ชม. เรียกว่ายังเป็นซีซั่นแรก ซึ่งเราก็ทำงานร่วมกับอาสาฯ ตั้งแต่ต้นเลย ช่วยกันระดมสมองว่าจะจัดอย่างไรดี จะต้องมีเนื้อหาอย่างไรบ้าง แบ่งโครงสร้างการทำงานกันชัดเจน ใช้อาสาประมาณ 60 คน เป็นการจัดเรียนออนไลน์ ผ่าน zoom มีน้องเข้าร่วมจากหลาย ๆ จังหวัด เชียงราย ยะลา ปัตตานี และในตอนนี้นอกจากจะมีเฟซบุ๊คแฟนเพจ ‘เด็กพิการเรียนไหนดี’ ที่มียอดกดติดตามเกือบหมื่นคนแล้ว ทางบริษัทกล่องดินสอก็กำลังจะเปิดตัวเว็บไซต์ในชื่อเดียวกัน เพื่อเป็นพื้นที่รวบรวมองค์ความรู้ด้านการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ (เด็กพิการ) ซึ่งไม่เพียงจะเป็นข้อมูลทั่วไป เช่น มหาวิทยาลัยไหนเปิดรับสมัครเมื่อไร ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง ยังจะมีเนื้อหาเพื่อเพิ่มทักษะชีวิต เนื้อหาที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับน้อง ๆ วัยเรียนอีกด้วย

ความพึงพอใจกับผลลัพธ์ของกิจกรรมที่ผ่านมา

พอใจตั้งแต่คิด เพราะในตอนนั้นยังไม่เห็นมีใครทำเลย ตอนแรกก็คิดเหมือนกันว่าถ้าเราทำไม่ดี จะมีดราม่า จะโดนด่าอะไรหรือเปล่า แต่สิ่งที่ได้กลับมามันเกินกว่าที่เราคิดไปมาก เพราะเด็กบางคนเขามีแนวโน้มจะไม่ไปต่อ พ่อแม่บางคนเห็นลูกพิการก็เก็บลูกไว้กับบ้าน ไม่ต้องไปเรียนหรอก หรือบางคนมีเงินที่จะส่งเรียนแต่คิดว่าเลี้ยงลูกไหว ก็ไม่รู้จะให้เรียนไปทำไม แต่เราเปิดประตูโอกาสให้เขาเห็นว่าอาชีพสำหรับคนพิการมันมีมากกว่าร้องเพลง ขายลอตเตอรี่ ซึ่งเมื่อเราเปิดประตูให้เห็นโอกาสตรงนี้หลายคนก็ยินดีจะเดินผ่านประตูโอกาสบานนั้นไป มันถือว่าประสบความสำเร็จตั้งแต่ครั้งแรกที่ทำ ซึ่งต่อจากนั้นก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของน้อง ๆ เองแล้ว และเราก็เห็นหลาย ๆ คนที่พยายามและมุ่งมั่นมาก ๆ ที่จะไปต่อให้ได้

อยากเห็นคุณภาพชีวิคคนพิการดีขึ้นผ่านการศึกษา

เป้าหมายหลักของเพจ ‘เด็กพิการเรียนไหนดี’ คืออยากจะเห็นคุณภาพชีวิตคนพิการดีขึ้นผ่านการศึกษา แต่เรามาเลือกจับกลุ่มเป้าหมายเด็ก ม.ปลายที่กำลังจะเข้ามหาวิทยาลัย ก็เพราะบอกตรง ๆ ว่าเรายังไหวแค่นี้ ผมรู้สึกว่าสิ่งที่ผมทำ หลายคนชอบมองว่ามันเป็นการทำบุญ การทำดี แต่สิ่งที่ผมพยายามจะบอกทุกคนคือว่า สิ่งที่ผมทำมันคือสิ่งที่เขาควรจะได้รับอยู่แล้ว มันเป็นสิ่งที่เขาควรจะได้อยู่แล้ว มันเป็นสิทธิ์ของเขาครับ ในประเทศที่พัฒนาแล้ว คนพิการเขาก็ไปเรียนหนังสือกันเป็นปกติ ถ้าถามว่าปลายทางของโครงการจะเป็นอย่างไรผมก็คิดว่ามันควรจะเหมือนประเทศโลกที่หนึ่ง ประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่ไม่ต้องมามีโครงการพิเศษเพื่อมาช่วยเหลือ ไม่ต้องมานั่งขอความเห็นใจ แต่ทุกคนได้ใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติตามสิทธิที่ทุกคนควรจะได้รับเท่าเทียมกัน

credit-2-1

เรื่อง :

อรุณวนา สนิกะวาที

อ่านพี่ชวนอ่านเรื่องอื่น ๆ

Scroll to Top