คุยกับพี่บุญรอด อารีย์วงษ์

เราต้องมองเรื่องท้าทายให้เป็นแบบฝึกหัดที่ดี

พี่บุญรอดแนะนำตัวหน่อยครับ

สวัสดีครับชื่อ บุญรอด อารีย์วงษ์ อายุ 29 ปี

กำลังทำอะไรอยู่บ้างครับ

เป็นยูทูบเบอร์ พนักงานมหาวิทยาลัย นักศึกษาปริญญาโท และเปิดร้านกาแฟ

พี่บุญรอดเรียนคณะอะไรครับ

คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนครับผม

แล้วรู้ได้อย่างไรครับ ว่าจะเรียนคณะนี้

จริง ๆ ตอนแรกก็ไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้ว่าคณะนี้เรียนอะไรบ้าง เรารู้แค่ว่าน่าจะมีการแสดงเยอะ เป็นการพูดอะไรแบบนี้หรือเปล่า ก็คิดไว้ในใจประมาณนั้น แต่พอได้เข้ามาเรียน ก็รู้สึกว่าคณะนี้เป็นคณะที่เราแฮปปี้มาก ๆ คือด้วยสังคมต่าง ๆ ในคณะ ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ เจ้าหน้าที่ หรือเพื่อน ๆ ทุกคนต่างชื่นชมซึ่งกันและกัน ทำให้เรามีความสุขมากในการเรียนมหาวิทยาลัย

คิดว่าการเรียนสำคัญอย่างไร

เราคิดว่า ความรู้สำคัญในการดำรงชีวิต เลยคิดว่าต้องเรียนให้จบ อย่างน้อย ๆ ก็ต้องปริญญาตรี เอาจริง ๆ คณะวารสารฯ เป็นคณะที่คะแนนสูงมาก ในช่วงปีแรกก็เกือบจะเรียนไม่ไหวนะ ทั้งเรื่องการเรียนที่มันเปลี่ยนไป จากมัธยมไปเป็นมหาวิทยาลัย เปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมือ และเราอยู่หอด้วย ต้องดูแลตัวเองด้วย เลยต้องใช้เวลาในการปรับตัวในการเรียน แต่เราเองก็อยากเรียนให้ดี เพราะว่าไหน ๆ ก็มีโอกาสได้เรียนแล้ว เราต้องพยายามให้ดีที่สุดเท่าที่ตัวเองจะมีความสามารถเรียนได้

บรรยากาศในการเรียนมหาวิทยาลัยเป็นอย่างไรบ้างครับ มีประสบการณ์ไหนในช่วงที่เรียน อยากแชร์ไหม

เพื่อน ๆ เราค่อนข้างช่วยเหลือกันและกันเยอะมาก ในบางครั้งที่เราเลคเชอร์ไม่ได้ เราก็จะไปขอยืมเพื่อนมาอ่าน ซึ่งเพื่อน ๆ ทุกคนยินดีให้เรายืม รวมทั้งอาจารย์ ถ้าเราเขียนไม่ได้ ขอพิมพ์ เขาก็ให้พิมพ์ เหมือนทุกคนพยายามช่วยเหลือเรา ในช่วงที่เรียนเราทำกิจกรรมเยอะมาก ๆ ในมหาวิทยาลัย อย่างเช่นการเป็นพิธีกร ซึ่งเป็นบทบาทที่ท้าทายเรามาก เพราะเรามีปัญหาเรื่องการพูด เราพูดไม่ชัด ทำให้เรากลัวคนอื่นฟังเราไม่รู้เรื่องด้วย ทำให้เราไม่ค่อยกล้าพูดในที่สาธารณะเลย จนกระทั่งมหาวิทยาลัยให้โอกาสเรา คณะให้โอกาสเรา เพื่อน ๆ ให้โอกาสเราเป็นพิธีกร ขึ้นเวทีครั้งแรกมือสั่นขั้นสุดเลย หนึ่งคือตื่นเต้น สองคือกลัวพูดไม่รู้เรื่อง แต่พอลองทำปุ๊บ คนฟังเองก็ฟังรู้เรื่อง แล้วก็มีคนชื่นชมเรา มันเหมือนเป็นการฝึกงานก่อนลงสนามจริงในช่วงที่เราเรียนในมหาวิทยาลัย พอมีโอกาสได้ทำช่องยูทูบ มันเหมือนเป็นการพูดปกติที่เราเคยทำมา เราก็เลยทำได้เลย ไม่มีความกลัวเลย

ทำไมตอนเด็กถึงไม่กล้าที่จะมีความฝัน

เพราะเราคิดว่าเราไม่ได้เป็นคนเรียนเก่ง เราก็เลยไม่กล้าฝันว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง และการที่เราพิการด้วย สังคมในตอนนั้นไม่ให้โอกาสด้วย ไม่กล้าฝันเลยว่าจะต้องเป็นอะไรในอนาคต และไม่คิดว่าจะต้องเรียนให้จบมหาวิทยาลัย ไม่คิดว่าจะมีโอกาสได้เรียน เพราะว่าอย่างที่บอกเมื่อก่อนสังคมไม่ได้เปิดกว้างขนาดนี้

มหาวิทยาลัยมีการสนับสนุนอะไรบ้าง

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นที่ ๆ มีเด็กพิการเรียนค่อนข้างเยอะ ระดับร้อยสองร้อยคนเลย และมีเกือบทุกคณะ มหาวิทยาลัยเองจะมีศูนย์ที่ชื่อว่า ‘ศูนย์บริการนักศึกษาพิการ’ มีหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกให้คนพิการ เช่น มีวัสดุอุปกรณ์ ให้นักศึกษาได้ยืมใช้ ในการเรียนการสอบ ทั้งคอมพิวเตอร์หรือไอแพด รวมทั้งมีการทำหนังสือเบรลล์ ถ้าเราอยากอ่านเล่มไหน ก็ไปที่ศูนย์ทำให้ได้ ซึ่งเราคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญ ที่ควรมี ทำให้เด็กสบายใจ และอุ่นใจมากขึ้นในการเรียน

การทำงานหลังเรียนจบ

หลังจากเรียนจบ เราไปสมัครงานไว้ประมาณ 4-5 ที่ ตำแหน่งหนึ่งในนั้นคือตำแหน่งเจ้าหน้าที่กรอกข้อมูล การที่ต้องมาเจอเรื่องแบบนี้ เหมือนเป็นการดูถูกคนพิการมาก ๆ เลยนะ เค้าอุตส่าห์เรียนจบมหาวิทยาลัยเลยนะ ทำไมถึงมองเขาได้แค่นั้น เราเลยรู้สึกว่าหางานยาก จนเรามาสอบติดเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย กระบวนการสอบก็เหมือนคนทั่วไป มีสอบข้อเขียน สอบสัมภาษณ์ กระบวนการก็ไม่ได้มีความพิเศษกว่าคนอื่น ๆ คือทุกคนเหมือนกันหมด ใช้วิธีการสอบเข้ามาเหมือนกันหมด

ฝากถึงน้องๆ ที่มีความฝัน

น้อง ๆ บางคนอาจจะกลัวว่าจะเรียนไม่ไหว เราอยากบอกว่าน้อง ๆ ทุกคนเรียนได้ สิ่งที่เราต้องมีก็คือความพยายาม ถึงจะรู้สึกว่าเรียนไม่เก่ง เราก็ต้องพยายามเรียนให้จบให้ได้ เราต้องคิดว่าเราทำเพื่ออนาคตที่จะต้องดีกว่านี้ ถ้าน้อง ๆ คนไหนมีความฝัน ก็ต้องพยายามเดินตามความฝัน ในแบบที่เราเองทำได้ และเราจะต้องรู้ว่าเราเองมีศักยภาพแค่ไหน ทำตามความฝันได้แค่ไหน เราว่าทุกคนทำได้แค่ต้องลองทำสุดท้ายเราเป็นกำลังใจให้ทุกคนเดินตามความฝันนะครับ

credit-1

เรื่อง :

คชรักษ์ แก้วสุราช

credit-2

ภาพ :

จรรสมณท์ ทองระอา

อ่านพี่ขอเล่าเรื่องอื่น ๆ

Scroll to Top