ใจความสำคัญของ Digital Journalist คือความถูกต้อง แม่นยำ และวิธีการนำเสนอ

หน้าที่ของอาชีพนักข่าวออนไลน์

นักข่าวออนไลน์ คิดประเด็น ค้นหาข้อมูล ติดต่อสัมภาษณ์แหล่งข่าว เรียงเรียบ เพื่อนำเสนอประเด็นที่สำคัญและน่าสนใจ โดยต้องนำเสนอข่าวสารที่ถูกต้องและแม่นยำทันเหตุการณ์ ผ่านสื่อออนไลน์ทางแพลตฟอร์มต่างๆ ภายใต้จรรยาบรรณ จริยธรรมวิชาชีพ และกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันเป็น Digital Journalist เรียกว่านักข่าวออนไลน์ ที่เป็นส่วนหนึ่งในการผลิต Content Online

เส้นทางสู่การเป็นนักข่าวออนไลน์

ช่วงมัธยมต้นเริ่มอ่านหนังสือเยอะ สนใจตามบอร์ด Dek-D ตอนนั้นนักเขียนไทยจำนวนมากเริ่มมีชื่อเสียงมาจากบอร์ด Dek-D เหมือนเป็นการเขียนนิยายลง Dek-D และสำนักพิมพ์ก็เอาไปพิมพ์ เป็นยุคเริ่มต้นที่เริ่มอ่านงานของนักเขียนไทย เพราะก่อนหน้านั้นส่วนใหญ่จะอ่านพวกวรรณกรรมแปลที่คุณแม่ซื้อมา ก็เริ่มให้ความสนใจและเข้าไปคลุกคลีมากขึ้น ลองเริ่มเขียนให้เพื่อนอ่าน เราสนใจงานเขียนก่อน พอขึ้นมัธยมปลายก็มีโอกาสได้เข้าร่วม workshop ของหลายๆ ที่ ไม่ว่าจะเป็นของสำนักพิมพ์ต่างๆ ที่มักจัดงาน workshop ให้สำหรับคนทั่วไป จนเริ่มค้นพบตัวเองว่าเราชอบเขียน และอยากจะเป็น Content Creator ทำให้ตัดสินใจเรียนนิเทศฯ ค่อนข้างจะรู้ตัวเองว่าอยากเป็นคนที่ผลิตคอนเทนต์ แต่ตอนนั้นก็ยังไม่ได้คิดว่าจะมาเป็นนักข่าว

จุดเริ่มต้นของอาชีพนักข่าวออนไลน์

เราได้มีโอกาสเข้ามาฝึกงานกับนิตยสารแห่งหนึ่ง ซึ่งตอนนั้นคิดว่าอยากเป็นนักเขียน พอเรียนจบและได้ทำงาน ที่ทำงานแรกของเราเป็นนิตยสารเหมือนกับตอนที่ฝึกงาน ด้วยลักษณะและเนื้อหางานของที่ทำเราเริ่มรู้สึกว่าไม่ใช่คอนเทนต์ที่เราสนใจ จึงตัดสินใจออกจากงานมาเป็นฟรีแลนซ์อยู่หลายเดือน รับงานเขียนงานสัมภาษณ์บุคคล ช่วงนั้น Workpoint News กำลังหานักข่าวออนไลน์อยู่พอดีเลยไปสมัคร ช่วงแรกของการทำงาน เราก็ทำเป็นฟรีแลนซ์ไปก่อน ทำสกู๊ปให้ Workpoint News เป็นงานชิ้นๆ จนเราเริ่มรู้สึกว่า งานนักข่าวไม่เหมือนที่เราคิดไว้ในตอนแรกว่าต้องเป็นงานที่เน้นความเร็วตลอดเวลา รู้สึกว่ามันเข้ากับเราได้ จึงเริ่มขยับมาทำเป็นงานประจำ

ในช่วง 3 เดือนแรกที่ได้ทำ ต้องเรียนรู้งานใหม่หมด เขียนสคริปต์ยังไง วิธีคิดการทำงาน ต้องเริ่มจากอะไรบ้าง ต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง วิธีประสานงานแต่ละฝ่ายต้องทำอย่างไร ต้องเริ่มใหม่หมดทุกอย่าง เพราะประสบการณ์ที่ผ่านมาเราทำสายสิ่งพิมพ์แทบจะร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งวิธีการทำงานแตกต่างจากออนไลน์ค่อนข้างมาก

การเตรียมตัว

เริ่มจากการยื่นพอร์ตก่อน ซึ่งในพอร์ตก็มีผลงานที่เราเคยทำมา ไม่ว่าจะเป็นงานนิตยสาร งานเขียนคอลัมน์ บทความ หรือบทสัมภาษณ์ต่างๆ หลังจากนั้นต้องเข้ากระบวนการสัมภาษณ์ บก.จะถามถึงประเด็นที่น่าสนใจ เหตุผลที่สนใจ ประเด็นนั้นมีความสำคัญหรือน่าสนใจอย่างไร รวมไปถึงวิธีการนำเสนอ เช่น จะรายงานออกมาในรูปแบบใด วิธีคิด วิธีนำเสนอ วิธีการประยุกต์เนื้อหา เป็นต้น

คุณสมบัติของการเป็นนักข่าวออนไลน์

1. สนใจเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคม สถานการณ์ปัจจุบัน อยากเล่าเรื่องราวนั้นๆ ให้คนฟัง

2. มีทักษะในการค้นหารวมรวบข้อมูล ตรวจสอบข้อเท็จจริง เช่น สืบค้นจากแหล่งต่างๆ สัมภาษณ์ หรือการสังเกต สามารถเรียบเรียงนำมาเล่าให้คนอื่นเข้าใจ มีความถูกต้องแม่นยำ

3. พร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจคาดเดาไม่ได้ขณะปฏิบัติหน้าที่ สามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า

4. รับผิดชอบต่อวิชาชีพ

5. ทำงานเป็นทีมได้

คณะที่เกี่ยวข้อง

คณะนิเทศศาสตร์

– คณะวารสารศาสตร์

– คณะสื่อสารมวลชน

– คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน

– คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

โอกาสความก้าวหน้าในอาชีพนักข่าวออนไลน์

อาชีพนักข่าวทำให้เราได้เรียนรู้เรื่องราวใหม่ๆ อยู่ตลอด อาจเรียกว่าได้สะสมทักษะ ความรู้ ประสบการณ์ และได้พัฒนาตนเองไปเรื่อยๆ ถ้าจังหวะเวลาสมเหมาะก็อาจได้เลื่อนตำแหน่งตามความสามารถ แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีเอื้อให้คนผลิตคอนเทนต์ได้เอง โดยมีคนดูเป็นคนตัดสิน หมายความว่าเราอาจไม่ต้องมีตำแหน่งอะไร แต่สามารถเป็นที่ยอมรับและได้รับความเชื่อถือของคนดู ก็สามารถสร้างรายได้และประสบความสำเร็จในอีกรูปแบบหนึ่งได้

ที่มาของรายได้

เริ่มตั้งแต่ 17,000 – 30,000 บาท ขึ้นอยู่กับทักษะและประสบการณ์ รวมทั้งรูปแบบองค์กรที่สังกัดอยู่

ขอขอบคุณ : อินทร์แก้ว โอภานุเคราะห์กุล (เค้ก)

Digital Journalist

workpointTODAY

บริษัท ไทยบรอดคาสติ้ง จำกัด

credit-2-3

เรื่อง :

กมลชนก ฉ่ำแสง

credit-1

ภาพ :

คชรักษ์ แก้วสุราช

อ่านพี่ขอเล่าเรื่องอื่น ๆ

Scroll to Top