ไม่ใช่แค่อยากเล่า แต่ต้องรู้ด้วยว่าจะเล่าอย่างไร วิธีการแก้โจทย์ปัญหาแบบ “วีรพร นิติประภา”

พี่มีความสัมพันธ์กับคนพิการน้อยมากในชีวิต บอกตรงๆ ว่าเกร็ง ไม่รู้ว่าจะปฏิบัติตัวด้วยอย่างไร พี่ไม่ค่อยสนิทสนม พี่ไม่รู้ต้อง treat แบบไหนแค่ไหน แต่พี่ก็จะชอบ treat เขาเหมือนคนไม่พิการนะ บางครั้งคนก็เอื้อเฟื้อเกินไป ช่วยถือของให้ ขึ้นรถได้ไหม ในขณะที่เขายังดูแลตัวเองได้

อาชีพนักเขียนคืออะไร

ก็เขียนอะ จบ พี่มีคลาสสอนด้วยนะ จริงๆ แล้วมันก็ไม่ได้มีอะไรให้สอน นักเขียนก็คือคนเขียน สิ่งที่คุณต้องทำคือคุณทนไหวไหม เขียนเยอะๆ ไหวไหม สนุกไหม แต่ถ้าคุณไม่สนุกในการเล่าเรื่อง ไม่ชอบเล่าเรื่อง ไม่ชอบพูดไม่ชอบคุย ก็ไปทำอาชีพอื่น 

แสดงว่าพี่แหม่มสนุกกับอาชีพนี้

ใช่ แต่ว่าคำถามก็คือ ทำไมคุณถึงอยากเขียน ทำไมถึงอยากเห็นผู้คนอ่าน จริงๆ แล้วพี่คิดว่ามันเริ่มจากการเป็นนักอ่าน พอคุณอ่านเยอะๆ แล้วคุณก็รู้สึกว่าฉันก็มีเรื่องจะเล่าอะไร ในตอนแรก พี่ก็คิดว่าฉันมีเรื่องจะเล่า แล้วจนกระทั่งพี่กลับมาเป็นนักเขียนตอนพี่อายุ 48 แล้ว นั่นก็คือพี่เขียนเพราะพี่ไม่มีเรื่องจะเล่า พี่ไม่รู้ว่าพี่จะเล่าเรื่องนี้อย่างไร

อย่างเรื่องเหตุการณ์ปี 53 สำหรับพี่มันถือว่าวิกฤตรุนแรงที่สุด อยู่ๆ เช้าวันหนึ่งตื่นขึ้นมาก็เกิดความขัดแย้งค่อนข้างสูง พี่คิดว่าก็ไม่เป็นไร ใครๆ มันก็ตีกันทุกหัวระแหงในประเทศนี้ เกิดการฆ่ากัน มีคนตาย ที่ไหนก็มีคนตาย แต่คำถามคือมีคนดีใจด้วย ซึ่งคนเหล่านั้นก็เป็นคนดีในชีวิตของเรามาด้วยค่อนชีวิต บริจาคทาน เลี้ยงหมาเลี้ยงแมวจรจัด แต่คนเสื้อแดงถูกฆ่า ตัวพี่เมื่ออายุ 48 ในเช้าวันหนึ่งที่ตื่นขึ้นมา ก็คิดว่าฉันจะเล่าเรื่องนี้อย่างไร จะบอกคนรุ่นหลังอย่างไร ฉันจะบอกกับใครต่อใครอย่างไรว่ามันเกิดอะไรขึ้น 

จริงๆ ตอนนั้นพี่เริ่มเขียนนิยายไปบ้างแล้ว เขียนแบบเป๋ๆ ไม่ได้อะไร แต่พอมาถึงจุดนั้น พี่รู้แล้วว่าพี่จะเขียนอะไร แต่พี่ไม่รู้ว่าจะเขียนยังไง แต่ต้องเขียนเพื่อที่จะเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ เพราะฉะนั้นมันก็เหมือนกับเวลาที่เราเข้าห้องทดลอง มันก็จะมีโจทย์ตัวอย่าง สมมติฐาน มายาคติ เราจะเขียนมายาคติผ่านเรื่องอะไรดี อาจจะผ่านเรื่องรักสักเรื่อง แต่แรกๆ มันก็เป็นเรื่องเกลียดแหละ คนถูกฆ่าตายแล้วมีคนดีใจ มันเป็นเรื่องเกลียด แต่ในสภาวะนั้นคือให้เขียนเรื่องเกลียดคงไม่ไหว ถ้าคุณเข้าใจความรักได้ก็จะเข้าใจความเกลียด สมมติฐานนี้พี่เริ่มจากปัญหามากกว่า การที่ไม่สามารถที่จะเล่าเรื่องนี้ได้  ไม่สามารถอธิบายสภาวะของการเป็นมนุษย์ แรกๆ ก็อย่างนี้ 

แต่เมื่อเขียนจบเล่มหนึ่ง แน่นอนว่าไม่พอ เราก็ไปหามายาคติที่ใหญ่ขึ้นอีก ก็คือประวัติศาสตร์แล้วก็ออกเล่มสอง เราก็ทำงาน ทำงานเหมือนเดิม โยนโจทย์ลงไปแล้วเราก็แก้โจทย์ของเรา ซึ่งในกรณีพี่ก็อาจจะทำงานต่างจากคนอื่น คือตัวละครของพี่ทุกตัวเหมือนใครสักคนในชีวิตจริง ถ้าเป็นคนนั้นเขาจะทำอย่างไรหากมีผู้ชายมาจีบ เขาจะบอกแม่ๆ ปรึกษาแม่ไหม การสร้างตัวละครมันเป็นการสร้างโจทย์ พี่จะมีไฟล์ของตัวละครแต่ละตัว หนูคนนี้อาจจะมีร้อยหน้าก็ได้ น้ำหนัก 64 อายุ 34 เคยอกหักมาแล้วสามหน ตอนนี้พระเอกของเราเดินเข้ามา เธอจะรักเขาไหม ถ้าเขาเหมือนคนที่ 2 หรือไม่เหมือนใครเลยใน 3 คนนั้น เราก็ต้องเซ็ทตัวละครขึ้นมาเหมือนทำตุ๊กตา แล้วก็ถามตุ๊กตาของเราว่าเขาจะทำอย่างไร

มันก็เป็นงานที่สนุก แต่ในขณะเดียวกันมันก็เป็นงานที่บางครั้งก็เศร้า เอาเข้าจริงตัวละครมันก็ไม่ได้มีอยู่ เราก็นั่งสิงทีละตัว บนฟังก์ชันที่เราดีไซน์ไว้ให้เขา เช่น การเป็นชนชั้นกลาง การศึกษาปานกลาง อยู่ในเมืองปานกลาง รายได้ปานกลาง ทุกอย่างปานกลาง เป็นต้น นี่คือสิ่งที่เราเซ็ทให้ตัวละคร ต่อให้ reaction ต่อสถานการณ์เป็นของตัวละคร มันก็เศร้าๆ บางเรื่องก็ทำให้นอนร้องห่มร้องไห้ไปเป็นหลายวัน 

พี่แหม่มดีไซน์ตัวละครทุกตัว กำหนดเส้นเรื่อง การแก้ปัญหาของตัวละคร และในขณะเดียวกันพี่แหม่มก็สนใจเรื่องปัญหาสังคมการเมืองด้วย

ก็ตัวละครของเราทุกตัว หรือมนุษย์ทุกคนในสังคมก็สะท้อนสังคมที่อยู่ เราไม่สามารถจะแยกปัจเจกออกจากกล่องที่เขาอยู่ สุดท้ายแล้วเขาก็จะพัฒนาสิ่งต่างๆ ตามความเชื่อ 

แต่อย่างหนังสือ ‘พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ’ ก็อาจจะยากหน่อยเพราะว่ามันย้อนยุค พี่ก็ต้องประเมินเอาว่าเขาน่าจะคิดอย่างนี้ในตอนนั้น ในตอนที่เรายังไม่เกิด ซึ่งถ้าถามว่าแล้วมันเป็น Solid Fact (เรื่องจริง) ไหม ถ้าคุณอยากอ่าน Fact ก็ไปอ่านอย่างอื่น อย่าอ่านนิยาย ฉะนั้นนิยายก็จะให้เสรีภาพกับเรา ใครที่มาอ่านแล้วเชื่อก็ช่วยไม่ได้ แต่แน่ๆ คือฟ้องร้องเราไม่ได้

จากที่พี่แหม่มเล่ามา อาชีพนักเขียนดูไม่มีขีดจำกัดหรือปัญหาเรื่องกายภาพใดๆ ถ้าน้องๆ สนใจอาชีพนักเขียน และอยากเริ่มต้น ในความเป็นจริงแล้วมันมีข้อจำกัดอะไรบ้างไหม

เผอิญเราทำงานทางสมอง ดังนั้น คิดว่าตราบเท่าที่คิดได้ก็เขียนได้ พี่มองไม่เห็นข้อจำกัดนะ เว้นแต่ว่าในเรื่องบางเรื่อง ถ้าเป็นสมัยก่อน ต้องเขียนถึงริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตรงสะพานพุทธ คนพิการก็อาจจะมีปัญหาที่จะไปเห็นสถานที่จริง แต่เดี๋ยวนี้เปิด Google Maps หรือ Google Street View ก็เห็นแล้ว นั่นหมายความว่าอินเทอร์เน็ตก็ได้ให้เสรีภาพ มีเครื่องมือเยอะมากในการที่จะเป็นนักเขียน แต่เขียนดีไม่ดีมันก็อีกเรื่อง 

ในบางครั้งเราก็คิดว่า ถ้าคนที่มีประสบการณ์เขาจะเขียนตรงนั้นได้ดีกว่าคนที่ไม่มีประสบการณ์ แต่หลายๆ ครั้งก็ไม่ใช่ มันเป็นประสบการณ์ทางความคิดความรู้สึกมากกว่า แล้วหลายๆ คนก็ต้องมาถามพี่ว่า ถ้าไม่มีความรักจะเขียนนิยายรักได้ไหม งั้นถ้าจะเขียนเรื่องผีไม่ต้องเป็นผีก่อนเหรอ บางครั้งจินตนาการหรือการจัดการให้ทุกอย่างลงตัวสำคัญกว่ามากๆ ไม่จำเป็นต้องคอยให้คอนเซปต์ลึกซึ้งอะไรมากมาย แต่มันลงตัวชวนอ่านมีเสน่ห์คนก็อ่าน

ถ้าน้องๆ อยากเริ่มต้น พี่แหม่มแนะนำอย่างไรบ้างคะ

แนะนำว่า หนึ่ง คุณควรจะเป็นนักอ่าน คุณต้องชอบอ่านก่อน คนพิการที่พี่รู้จักก็เป็นนักอ่าน มี luxury ของการได้อ่าน ซึ่งจริงๆ คนพิการมี luxury มากกว่าคนอื่น พี่ก็ไม่รู้ว่าพี่เสียเวลาในชีวิตมากมายแค่ไหนไปกับการเต้นระบำ หรือรถติด นอกจากนั้นยังมี luxury ของการมีเวลาทำงานอีกด้วย ซึ่งหรูหรามาก สิ่งเหล่านี้มันจำเป็นมากสำหรับการเขียน นั่นหมายความว่า พี่เขียนนิยายของพี่ในเวลา 3 ปี แต่สำหรับคนที่ไม่ต้องออกจากบ้านบ่อยๆ เขาก็อาจจะสามารถทำได้ในปีเดียว

พี่แหม่มทำงานกับตัวละครกับตัวเองเยอะมาก

ถึงบอกไงคะ ถ้าไม่ชอบอย่าทำ มันเป็นงานจับกัง

แล้วพี่แหม่มรู้อย่างไรว่าตัวเองชอบ

ก็สนุกไง ที่ผ่านมาพี่ทำหลายอย่างเลย โฆษณา แมกกาซีน แล้วก็ขายสร้อย ซึ่งเป็นงานที่ชอบมากซื้อมาขายไป ไม่มีลูกค้ามาแก้งาน หลังจากทำงานที่มีลูกค้าตลอด ซึ่งก็โอเคนะ แต่ว่าพอมาทำนิยาย คนเป็นผู้กำกับจะเข้าใจพี่นะ บางครั้งคนเป็นผู้กำกับจะคิดว่าจะสั่งให้ใครไปตายก็ได้  แต่จริงๆ แล้ว ถ้ามันยังไม่ถึงที่ตายก็จะตายไม่ได้ ไม่งั้นคนอ่านจะว่าอย่างไร

ในการฆ่าใครสักคน หรือทำให้ใครสักคนรักกัน โศกนาฏกรรมต่างๆ ในนิยายเป็นเรื่องยากจริงๆ มันจำเป็นที่คุณจะต้องกลับไปหาสถานการณ์ แต่อันนั้นคือเล่าให้ฟังดูดีนะ จริงๆ แล้วมันเหมือนเล่นเกม The Sims น่ะ ทำให้เกิดภัยพิบัติ น้ำท่วม แผ่นดินไหว เพื่อที่จะให้สถานการณ์ไปต่อได้ พี่ไม่ได้วางโครงเรื่องจนจบ ตัวละครแต่ละตัวมีชีวิตของเขา แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนทำงานแบบพี่ได้นะ พี่ด้นเอาวันต่อวัน พี่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเช้านี้มันจะไปทางไหน

นักเขียนส่วนใหญ่เขาจะวางไว้แล้วเพราะมันทำให้ทำงานได้เร็ว แต่ปัญหาก็คือ สมมติเรากำหนดไว้ว่าให้เขารักกันในตอนที่สาม มันยังไม่ถึงที่ แต่เราผลักดันให้คู่นี้ลงเอยกันจนได้ในตอนที่สาม เพราะว่าวางเอาไว้แล้ว แต่สุดท้ายแล้วพี่ไม่ชอบ ก็ปล่อยมันดีกว่าไหม อาจจะไม่รักกันก็ได้ก็ไม่เป็นไร จะไปรักใครก็ไป เพราะว่าพี่เรียนรู้จากตัวละครพี่ เขาจะช่วยให้พี่เข้าใจสถานการณ์ต่างๆ หรือความเป็นมนุษย์ของเขา บอกแล้วว่าโจทย์คือ ‘ความเป็นมนุษย์คืออะไร’ ทำไมคนดีถึงดีใจที่ใครสักคนถูกฆ่า อันนั้นคือจุดเริ่มต้น ฉะนั้น ตลอดทางพี่แสวงหาความเป็นมนุษย์ในผู้คน ไม่ว่ามันจะใช่หรือไม่ใช่ ไม่ว่ามันจะเปราะบางไหม ไม่ว่ามันจะทุลักทุเลบ้าคลั่งวิกลจริต มันก็เป็นมนุษย์ 

นี่คือวิธีการทำงานของพี่แหม่มใช่ไหมคะ

ใช่ๆ มันคือวิธีการทำงานของพี่ ด้วยวิธีการนี้ทำให้พี่นิ่งขึ้น ไม่อย่างนั้นพี่จะอยู่กับความโกรธว่าทำไมคนที่พี่รักถึงดีใจในการตายของคนอื่น แต่ว่าคุณต้องเข้าใจ ต้องลงไปเห็นความเปราะบางของเขา แล้วก็จะเริ่มเข้าใจเขา แต่เราก็ไม่สามารถสรุปได้ ท้ายที่สุดแล้วเราก็จะมองเห็นว่ามนุษย์ไม่ได้เกิดมาชั่วร้าย อย่างกรณีคนเสื้อแดงมันสร้างความเจ็บปวดให้พี่มาก เพราะว่าคนที่ดีใจพวกนั้นยังไม่รู้จักคนที่ตายเลย ถ้าหนูไปแย่งผัวพี่ พี่ยิงหนู เข้าใจได้ว่าคือปัญหาส่วนตัว หรือพี่จะจัดงานฉลองการตายของคนนั้นก็ได้ แต่ว่านี่เราไม่เคยเห็นกัน ทำไมถึงต้องแสดงออกขนาดนั้น 

คุณสมบัติหนึ่งของนักเขียนคือเราต้องมีความพยายามเข้าใจมนุษย์ แน่นอนว่าเราไม่สามารถจะให้คนทุกคนอยากเขียนแบบนี้ ซึ่ง 3 ปี ได้เล่มหนึ่งก็น้อยแล้วนะ พี่ก็อยากทำสัก 10 ปี เล่มหนึ่ง แต่ก็จะไม่มีกินไง เดี๋ยวก็แก่ เดี๋ยวก็ตายแล้ว

แสดงว่างานนักเขียนมีหลากหลายประเภท แล้วก็วิธีการทำงานก็แตกต่างกัน

ใช่ๆ เรื่องที่คุณสนใจ คุณก็จะเขียนได้ดี ซึ่งพี่สนใจมนุษย์ หรือบางคนก็สนใจนิยายวายเพราะสนุกอะไรแบบนี้ ซึ่งจริงๆ ถ้าถามพี่ พี่ไม่คิดว่างานแต่ละงานจะมีคุณค่าเหนือกว่าน้อยกว่ากัน ถ้าใครสักคนอ่านนิยายวายสักเล่มหนึ่งก็อาจจะผ่านทุกข์โศกโรคภัยไปได้สัก 3 เดือน ซึ่งพี่ทำไม่ได้ แต่ในงานพี่ เขาก็อาจจะได้คุณค่าในทางอื่น คำนึงถึงการเมือง สังคม และผู้คนมากขึ้น ก็เป็นอีกแบบหนึ่ง แต่สำหรับคนสร้างชิ้นงาน มันไม่ได้ต่างกันเลย อย่างต่วย’ตูน เล่มละ 5 บาท ก็ทำให้หัวเราะกันตกเก้าอี้ได้แล้ว 

นักเขียนเป็นอาชีพที่แสดงตัวตนเยอะมาก แล้วแต่ละคนก็มีสไตล์เป็นของตัวเอง แบบพี่แหม่มเรียกว่าสไตล์ไหนคะ

โห เหมือนคนแก้ผ้าเลยค่ะ แต่พี่ก็มีมาร์เก็ตติ้งพอสมควร คนเราชอบดูหนังเศร้า คนเราเกิดมามีชีวิตเดียว แน่นอนเราต้องการร้องไห้ เราต้องการเศร้า เราต้องการสิ้นหวังพอๆ กับที่ต้องการสมหวัง เราต้องการมีความสุข สนุกตลกเฮฮายิ้มแย้ม เราต้องการทุกอย่างในการมีชีวิตอยู่ ไม่ใช่ด้านใดด้านหนึ่ง แต่ว่าถ้าถามพี่ พี่ก็มี mission มากกว่านั้น 

ในบางครั้งตัวละครของพี่ก็เศร้า อย่าง ‘จงสว่าง’  ในพุทธศักราชฯ ที่เป็นตัวแทนของความเหลื่อมล้ำ จงสว่างถูกกระทำ เขาเป็นลูกที่พ่อแม่ไม่รัก เมื่อพ่อแม่ไม่รัก เขาก็เป็นตัวละครที่เล่าเรื่องความเหลื่อมล้ำ ไม่ว่าเขาจะทำมากแค่ไหน ไปไกลมากแค่ไหน ไม่รักก็คือไม่รัก สำหรับพี่เขาเป็นตัวละครที่พรีเซนต์ความเป็นคนนอก นอกของชีวิตตัวเองด้วยซ้ำ พรีเซนต์ความเหลื่อมล้ำ ความขมขื่นของการเป็นมนุษย์ ซึ่งพี่จงใจเลยแหละ จำได้ว่าพี่พูดกับสามีผู้ไม่อ่านหนังสือว่า สาบานเลยว่าจะไม่มีใครออกจากเล่มนี้ครบ 32 

แสดงว่าก็มีธงประมาณหนึ่งในการวางโครงเรื่อง

ถ้าพี่สามารถเล่าเรื่องนี้แล้วคนอ่านรู้ว่าความเหลื่อมล้ำคืออะไร รู้ว่ารักลูกไม่เท่ากันเป็นอย่างไร ทุกคนรู้ แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมเฮงซวยมีความเหลื่อมล้ำล้านแปด ฐานมันกว้างมาก ถ้าพี่มีอาวุธมีกระสุนสักลูกหนึ่ง พี่จะยิงหัวใจคนอ่าน

อยากให้พี่แหม่มเล่ากระบวนการทำงาน เริ่มต้นวางโครงเรื่องจากอะไร

ง่ายๆ เลย อย่างเช่นมีผู้หญิงคนหนึ่งเดินเข้ามาในร้านกาแฟบ่ายวันหนึ่ง มีช่างภาพเด๋อๆ เข้ามานั่งแล้วพูดว่า “พี่ครับ ขอนั่งด้วยได้ไหมครับ” แล้วก็เริ่มสร้างโพรไฟล์ของตัวละครนั้นประกอบร่างไป พอนั่งไปสักพักสองคนนี้เริ่มไม่คุยกัน ผู้จัดการร้านก็เข้ามาถาม “หายใจได้ไหมครับ” นางเอกก็หันไปสบตาเขา จากนั้นเรื่องก็ผ่านไป เราก็ไปสร้างตัวละครอื่นก่อน เราไม่ต้องใช้ทั้งหมด สิ่งที่เราสร้างในวันนี้ พรุ่งนี้จะเผาทิ้งหมดเลยก็ได้ แต่หากแม้นว่าเรื่องราวมันเป็นไปได้ ในระหว่างที่เราเขียนตอนที่ 1 ในร้านกาแฟนี้ กำแพงของร้านนี้จะเล่าเรื่องของมัน ไฟดวงนั้นจะเล่าเรื่องของมัน โคมระย้าจะเล่าเรื่องของมัน อย่างน้อยๆ น้อยสุดก็ได้ฉาก ตัดตัวละครออกก็ยังเหลือฉากไว้ เห็นไหมว่าในการเขียนแต่ละวันไม่มีทางสูญเปล่า นั่นหมายความว่าอย่างน้อยๆ พี่ก็ยังเห็นรายละเอียดของพื้นร้านกาแฟ สีของมัน สัมผัสมัน ความรู้สึกของการก้าวเล็กๆ เวลาเดิน หรืออะไรอย่างนี้ ซึ่งอาจจะใช้เมื่อไหร่ก็ได้ 

คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่า เมื่อนั่งลงเขียนแล้วต้องเสร็จ ต้องไปได้เรื่อยๆ แต่จริงๆ แล้วเราแค่ทำเหมือน collage ทำรูปทีละรูปมาปะติดกัน อันไหนใช้ได้ก็ใช้ อันไหนใช้ไม่ได้ก็ไม่ใช้ แต่พี่จะคิดคอนเซปต์มาก่อน อย่างที่พี่บอกว่าเล่มแรกพี่ทำมายาคติแล้วมันไม่พอ พี่เลยไปหามายาคติที่ใหญ่ที่สุดของเราคือ ‘ประวัติศาสตร์’ อันเดียว ถามว่าประวัติศาสตร์ทำให้เราเป็นคนที่เราไม่ได้เป็นได้อย่างไร ประวัติศาสตร์ครอบครองคนนอกไหม ประวัติศาสตร์เล่าเรื่องของมันเองได้ไหม ทรงจําของทรงจํามันคือประวัติศาสตร์ที่เล่าเรื่องของมันเอง ซึ่งพี่ก็จะทำงานภายใต้ขอบเขตอันนี้ ว่าพี่จะพูดถึงอะไร พี่ก็ทำลิสต์ออกมา บางทีเราทำงานมันไม่ได้มีคอนเซปต์เดียว มันมีหลายชั้นอยู่เหมือนกัน ถ้าคุณไม่สนุกก็อย่ามาทางนี้ แต่พี่สนุกกับมัน 

มีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้งานประสบความสำเร็จ หรืออย่างน้อยคือเป็นที่รู้จัก สร้างรายได้เลี้ยงดูตัวเองได้ 

โอเค หนึ่ง ชอบไหม สอง มันอยู่ในขอบเขตที่คุณถนัดหรือเปล่า เช่น พี่พบว่าพี่ทำงานมาสักระยะหนึ่ง คนอ่านถึงจะรู้ว่าพี่เล่าเรื่องรักน่ารักมากเลยค่ะ ขึ้นชื่อค่ะ หลายคนอ่านตอนรักของพี่แล้วก็จะแบบยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ไป อะไรอย่างนี้ ก็จะเริ่มรู้แล้วว่าต้องมีคู่รักคู่หนึ่งในเรื่อง แล้วพี่เป็นคนชอบความรัก พี่เป็นคนเทิดทูนความรัก สิ่งดีๆ ของมนุษย์มีแค่นี้เอง สิ่งเดียวที่เรามีคือ เรามีความรัก ความรักทำให้เราดี อะไรแบบนี้เราก็เก็บไว้

นอกเหนือจากว่าชอบอะไร ถนัดอะไรแล้ว ยังมีว่าจริงๆ แล้วทำได้ดีไหม ชอบอะไร ถนัดอะไร มันก็จะสร้างมาสู่จุดนี้ อย่างน้อยๆ ถ้าคุณชอบเขียนคุณก็จะเขียนได้นาน เหมือนทักษะอื่น อย่างช่างภาพไม่ได้เกิดมาแล้วทำได้เลย แต่มันต้องฝึก ต้องเรียนรู้กัน ต้องมีเทคนิคสารพัด ถ้าไม่ชอบต่อให้กล้องตัวละล้านก็ไม่ไปไหน คือหนึ่งชอบพอที่จะทำมันได้เรื่อยๆ ช้าหรือเร็วก็จะเก่งพอ ส่วนจะแบบว่า creative แค่ไหน innovative  แค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับชีวิตที่ใช้มา ขึ้นอยู่กับสังคมที่เรามี 

อยากบอกน้องๆ ว่า เราต้องช่วยกันเรื่องรัฐสวัสดิการ อย่ามัวแต่บอกให้ใครต้องมาพิสูจน์ตัวเอง เราต้องการรัฐสวัสดิการ เราต้องการการดูแลให้เขาอยู่ได้ ไม่ใช่ต้องทำงานเพื่อเงิน แต่ทำงานเพื่อความหลงใหลใฝ่ฝัน ทำเพื่อตัวเขาเอง คนมาถามว่าอายุ 48 แล้วทำไมเพิ่งจะมาเขียน คือเราไม่มีเวลา ต้องเลี้ยงลูก ถ้าเรามีรัฐสวัสดิการที่ดี ถ้าเรามีการจ่ายที่ดี พี่ก็สามารถเป็นนักเขียนได้ตั้งแต่อายุ 20 แล้ว ไม่ต้องดิ้นรนทำนู่นทำนี่ 

สำหรับคนพิการก็ไม่ควรต้องเสียค่าเช่าบ้าน ค่ายา ค่ารถเมล์ต้องถูกกว่านี้ รถไฟฟ้าก็แพงมาก แล้วเบี้ยคนพิการมีแค่ 800 บาท ต่อเดือน ถามว่า 800 บาท เอามาทำอะไรได้

ขอขอบคุณ คุณวีรพร นิติประภา (แหม่ม) นักเขียนเจ้าของรางวัลซีไรต์จากนวนิยายเรื่อง ‘ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต’ และ ‘พุทธศักราชอัสดงในทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ’

friday-01

เรื่อง :

บุณฑริกา แซ่ตั้ง

credit-2

ภาพ :

จรรสมณท์ ทองระอา

อ่านพี่ขอเล่าเรื่องอื่น ๆ

Scroll to Top