ล่าม คนสำคัญในบทสนทนาสองภาษา

ล่ามภาษา / นักแปลภาษามีหน้าที่อะไร

ล่าม เป็นอาชีพที่เกี่ยวข้องกับภาษา ทำหน้าที่ใช้ความรู้ทางภาษาในการแปลจากภาษาหนึ่งไปเป็นอีกภาษาหนึ่งในระหว่างการสนทนา

เส้นทางสู่การเป็นล่ามภาษา  / นักแปลภาษา

เริ่มตั้งแต่ช่วงมัธยม สมัยนั้นไม่ได้มีทางเลือกให้เรียนมาก มีสองทางให้เลือกคือ สายวิทย์ กับ สายศิลป์ และสายศิลป์ก็มีแค่สองอย่างคือ ศิลป์-คำนวณ กับ ศิลป์-ภาษา บวกกับข้อจำกัดของตัวเอง คือไม่ได้เก่งเลขมากนัก ดังนั้นการจะไปทางสายวิทยาศาสตร์ หรือศิลป์-คำนวณ น่าจะไม่เหมาะกับเราเลยคิดว่าสายศิลป์-ภาษา คือคำตอบในตอนนั้น

ช่วงนั้นก็สงสัยว่าอาชีพล่ามคืออะไร รวมทั้งไม่เคยรู้จักคนทำอาชีพนี้มาก่อน แต่สิ่งที่ทำให้เราเกิดแรงบันดาลใจก็คือการที่โรงเรียนพาไปทำกิจกรรมที่กระทรวงการต่างประเทศ ทำให้ได้เจอกับพี่คนหนึ่งซึ่งเขาเป็นล่าม เราก็ประหลาดใจว่ามีอาชีพนี้อยู่ด้วยเหรอ ดูเท่มากเลย คือการจุดประกายครั้งแรกในตอนนั้น จนกระทั่งช่วงปริญญาตรีเรารู้สึกว่าชอบทางภาษา แต่ก็ไม่ได้มีทักษะอยู่ในระดับดีมาก เพราะว่าไม่ได้เรียนทางด้านภาษามาโดยตรงเลยตัดสินใจมาสอบตรงที่คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

ในช่วงที่เรียนอยู่นั้นมีรุ่นพี่คนหนึ่งมาคุยกับเรา และได้พูดประโยคหนึ่งว่า “ภาษามันเป็นทักษะ ไม่ว่าคุณจะเรียนสาขาอะไร คุณจำเป็นต้องได้ภาษา” การที่เราเรียนสังคมสงเคราะห์ก็สามารถฝึกภาษาได้ เราก็ฝึกฝนเรื่องภาษามาโดยตลอด จนกระทั่งได้ทุนไปเรียนต่อต่างประเทศ

จุดเริ่มต้นของอาชีพล่ามภาษา

เริ่มทำอาชีพล่ามครั้งแรกในงานประชุมนานาชาติ ประเด็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV เราทำหน้าที่ล่ามพูดพร้อมเป็นครั้งแรก ทว่าในตอนนั้นรู้สึกว่ายากมาก แต่ก็กลายเป็นประสบการณ์ที่ดีด้วย หลังจากนั้นเริ่มมีงานล่ามภาษาเข้ามามากขึ้น ทำให้เราเองก็ได้เพิ่มประสบการณ์กับอาชีพนี้ด้วย

ประเภทของล่าม

1. ล่ามพูดตาม (Consecutive interpreting) คือ รอให้พูดจบแล้วแปล 

2. ล่ามพูดพร้อม (Simultaneous interpreting) คือ ล่ามพูดพร้อมกับผู้พูด ล่ามลักษณะนี้มักใช้อุปกรณ์ประกอบ

3. ล่ามกระซิบ (Whisper interpreting, Chuchotage) คือ การล่ามโดยแปลคําพูดในลักษณะเดียวกับการล่ามพูดพร้อม แต่ด้วยไม่มีชุดอุปกรณ์เครื่องเสียง หรือชุดไมโครโฟน ล่ามจะแปลคําพูดให้ผู้ฟังด้วยการกระซิบหรือเสียงเบาๆ

4. ล่ามจากเอกสาร (Sight translation) คือ การอ่านจากเอกสารแล้วพูดแปลทันที 

คุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพ

1. พื้นฐานภาษาแน่น รู้คำศัพท์ในการถ่ายทอดได้หลากหลาย รวมถึงเข้าใจถึงบริบทของภาษานั้นๆ

2. มีความสามารถในการสื่อสาร มีสมาธิดี จับเนื้อหาได้ไว ถูกต้องและแม่นยำ

3. เป็นผู้หมั่นค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ ทั้งในงานที่ทำและงานแขนงอื่นๆ

4. เป็นผู้มีความละเอียดรอบคอบและความละเอียดอ่อนในการแปล

คณะที่เกี่ยวข้อง 

– คณะอักษรศาสตร์
– คณะมนุษยศาสตร์
– คณะมนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์
– คณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาภาษาอังกฤษ (หรือภาษาอื่นๆ )

– เรียนด้านอื่นที่ไม่ใช่ด้านภาษา แต่ว่ามีใจรักและมีความสามารถในการใช้ภาษาได้อย่างดี 

ที่มาของรายได้

1.​ พนักงานประจำ เริ่มต้นที่ 30,000 – 40,000 บาท แล้วแต่ความเชี่ยวชาญทางภาษา และส่วนใหญ่จะเป็นภาษาอื่นๆ นอกเหนือจากภาษาอังกฤษ
2. อิสระ คิดค่าใช้จ่ายเป็นรายชั่วโมงตามความชำนาญ เรทเริ่มต้นจะอยู่ที่ 1,000 – 3,000 บาท

ขอขอบคุณ  : คุณวรวรรณ จิรธนาพิวัฒน์ (FN Edu Research รับปรึกษางานวิจัย)

credit-2-2

เรื่อง :

ปริญญาพร สุทานนท์

credit-2

ภาพ :

จรรสมณท์ ทองระอา

อ่านพี่ขอเล่าเรื่องอื่น ๆ

Scroll to Top