สำรวจเส้นทางชีวิต ประสบการณ์และทักษะที่หลากหลาย คือความงามของการเติบโต

ทำไมเราถึงต้องรู้จักตัวเอง

ไม่ใช่เฉพาะวัยเด็ก หรือวัยรุ่น การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ในชีวิตทุก ๆ ช่วงวัย ตั้งแต่เด็ก ผู้ใหญ่ จนถึงผู้สูงอายุ ก็จะมีกระบวนการเรียนรู้ ที่จะค้นพบตัวเอง ว่าตัวเองชอบหรือไม่ชอบอะไร การค้นพบตัวเอง มีคุณค่าอยู่ 2 อย่าง อย่างแรกคือการเติบโตภายในของเรา (Personal Growth) จะสังเกตได้ว่าเวลาเราค้นพบตัวเอง เราเห็นตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ดีหรือไม่ดี ถ้าเราเห็นมัน เราเองก็จะเติบโตไปอีกขั้นหนึ่ง เติบโตในที่นี้หมายความว่า เราจะเข้าใจตัวเองมากขึ้น และเราจะใช้สิ่งที่เราค้นพบได้ดีขึ้น อย่างที่สอง พอเราค้นพบตัวเองก็จะมีลำดับต่อไปในแง่ที่ว่า จะนำสิ่งที่ค้นพบไปใช้ต่อยอดในชีวิตของเรา ในแบบของเราอย่างไร

คราวนี้เราจะออกแบบชีวิตตัวเองอย่างไรได้บ้าง มักมีคนพูดบ่อยครั้ง ว่าชีวิตเราเลือกได้ เราสามารถที่จะสร้างสิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้นได้ คำพูดเหล่านั้นจริง ๆ แล้วมีความหมายในแง่ของกระบวนการในการค้นพบตัวเองอยู่ หัวใจสำคัญเกิดจากการรู้ว่าตัวเองชอบอะไร ไม่ชอบอะไร และเพราะเหตุใดเราจึงรู้สึกเช่นนั้นกันแน่นะ เหมือนสะท้อนคิดออกมาให้ชัด กระบวนการค้นพบตัวเองจึงเกิดขึ้นได้เสมอ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุ ขึ้นอยู่กับว่าเราเข้าใจวิธีการนั้นอย่างไร นำประสบการณ์ที่ได้พบเจอ มาทำความเข้าใจได้มากน้อยเพียงไร

เราใช้เครื่องมือ หรือกระบวนการอะไรมั้ย ในการค้นพบตัวเอง

เครื่องมือที่สำคัญสำหรับการค้นพบตัวเอง คือ การรับรู้ของแต่ละคน และสะท้อนมันออกมา เช่น ในตอนนี้เราสามารถรับรู้ได้ว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้นกับเรา และเราสะท้อนมันออกมาได้ว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้นกับเรานั้นมันคืออะไร และสิ่งนั้นมันจะค่อยๆก่อร่างตัวตนและธรรมชาติของความเป็นเราขึ้นมา เหมือนคำพูดของหลาย ๆ คนทีว่า อยากให้เด็ก ๆ มีประสบการณ์ที่หลากหลาย ออกไปเจอโลกกว้าง แต่จะมีสิ่งนึงที่คนไม่ได้พูดต่อจากคำพูดเหล่านี้คือ ออกไปแล้วคุณเจออะไรบ้าง เห็นอะไรบ้าง รู้สึกอะไรบ้าง ความหมายของสิ่งที่ไปเจอคืออะไร มีแต่คนให้ออกไปทำ แต่เครื่องมือที่จะกลับมาทบทวนตัวเอง การสร้างความหมาย นำไปสู่กรอบความคิดของเรา จากประสบการณ์นั้นๆ แล้วขยายประสบการณ์นั้นออกมาให้เป็นรูปธรรม สิ่งเหล่านี้คือสมรรถนะหนึ่งในการเรียนรู้ของคน ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางของระบบการศึกษาของบ้านเราที่กำลังจะมีการปรับเปลี่ยน มุ่งเน้นในการพัฒนา สมรรถนะของผู้เรียน

ถ้าเราไม่เจอตัวเอง จะผิดไหม?

ไม่ผิดค่ะ แต่ต้องแยกออกเป็น 2 ประเด็น เค้าอาจจะเจอในสิ่งที่เค้าไม่ชอบ แล้วก็เลยคิดว่ายังไม่เจอ แต่จริง ๆ เจอนะ เจอสิ่งที่ไม่ชอบ เราเลยยิ่งต้องตั้งคำถามกลับกับตัวเอง ว่าเพราะอะไร เราถึงไม่ชอบอันนั้นล่ะ มันมีปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งผลเกี่ยวข้อง เป็นเพราะอะไรกันนะ เพราะในความเป็นคุ้นชินที่ผ่านมา พวกเราถูกบ่มเพาะมาในห้องเรียนที่มีแต่คำว่าถูกมาตลอด ถูก ถ้าผิดจะเสียใจ ผิดหวัง และล้มเหลว ด้วยสภาวะทางสังคมก็มีผลทำให้เราคิดแบบนั้น แต่ชีวิตจริงไม่ใช่มีแค่การชื่นชมสิ่งที่เรียกว่า “ถูก” แล้วปฏิเสธสิ่งที่เรียกว่า “ผิด” แบบนั้น กระบวนการเรียนรู้ในชีวิตของคนมีศักยภาพในการเติบโตและงอกงามได้ จริงๆแล้วมนุษย์เติบโตจากการเห็นตัวเองทั้งสองด้าน ซึ่งเด็ก ๆ ควรจะได้ทำความเข้าใจ ปรับกรอบความคิด (Mind set)และมุมมองในมิตินี้ด้วย

ไม่มีคำว่าไม่เจอ แต่อาจจะเจอสิ่งที่ไม่ชอบแล้ว “ไม่ยอมรับ”

เพราะทุกคนอยากจะเจอแต่สิ่งที่ตัวเองคาดหวัง เด็กกับผู้ใหญ่มีกระบวนการนึงที่แตกต่างกัน คือ กระบวนการปรับตัว สิ่งที่เรากับเด็กจะเจอเหมือนกัน คือ เราจะเจอทั้งสิ่งที่ชอบและไม่ชอบตลอดเวลา แต่ผู้ใหญ่จะมีวิธีการในการปรับตัวที่จะอยู่กับสิ่งๆ นั้นให้ได้ หรือบางคนเก่งกว่านั้นอีกสามารถปรับให้สิ่งที่ไม่ดีนั้น ให้เป็นสิ่งที่ดีขึ้นได้ก็มี แต่กับเด็กที่โตมาในระบบโรงเรียนที่มีระบบนิเวศทางการเรียนรู้แบบตัดสิน ปฏิเสธความแตกต่างหลากหลาย การที่พบว่าตัวเอง “ทำสิ่งนี้ไม่ได้ดีเท่าคนอื่น” เด็กก็ไม่กล้าที่จะยอมรับ เพราะดูไม่คูล รู้สึกเฟล และปิดบังตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง กดทับมันเอาไว้

บางครั้งเรายังไม่รู้เลยว่าตัวเองต้องเรียนคณะอะไร ต้องทำอย่างไรต่อ เป็นผลผวงจากระบบคิดทางการศึกษาที่ไม่ตอบโจทย์ตัวตนและความหลากหลาย ทำให้เด็กรู้แค่ว่าอาชีพนี้ดีที่สุด คาเรคเตอร์นี้พิมพ์นิยม หรือต้องเรียนวิชานี้ให้ได้นะ ถึงจะฉลาด จะประสบความสำเร็จ เด็กถูกทำร้ายด้วยวิธีคิดนี้ มันมีน้อยมากที่จะบอกเด็กได้ว่า สามารถบูรณาการความชอบที่หลากหลาย รวมกับตัวตนของเด็ก ทำให้เกิดเป็นเอกลักษณ์ความเป็นตัวตนของเราเองได้นะ

ถ้าเราลองถอดบทเรียนคนที่ประสบความสำเร็จ จริงๆเค้าไม่ได้เก่งแค่ทักษะเดียวนะ เค้ามีหลายทักษะที่เก่ง ที่ทำได้ดี และเอามาบูรณาการกันกับสิ่งที่เค้าชอบ มันก็จะเกิดเป็นสิ่งใหม่ เป็นนวัตกรรมอันใหม่ขึ้นมาโดยที่สร้างสิ่งมหัศจรรย์ให้สังคม ให้โลก หรือให้ตัวเองได้ อาจจะไม่ต้องรอเลือกทางเดิน เลือกวางแผนชีวิตตอน ม. 6 ก็ได้นะ มันเริ่มได้ก่อน ดังนั้นเวลาที่สอนเด็กเรื่องการแนะแนว หรือเรื่องการมองอนาคต ม. 4 ก็ควรจะเป็นวัยที่ควรจะต้องเริ่มวางแผนอย่างเป็นระบบได้แล้ว

เด็กๆ ควรจะมีประสบการณ์ที่หลากหลาย พอขึ้น ม.ปลาย หรือวัยรุ่นตอนปลายต้องเพิ่มเรื่องการจัดการ (Management) เข้าไป ว่าเวลามีเป้าหมายแล้วจะกำกับให้ตัวเองไปถึงเป้าหมายนั้นได้อย่างไร ไม่งั้นก็จะไปเป็นอีกประเด็นคือ ฉันไม่มั่นใจในตัวเองเลย จริงๆ อาจจะมั่นใจ แต่ไม่รู้วิธีในการกำกับตัวเอง

อะไรคือ Learning Journey : สำรวจแนวทางอาชีพ ออกแบบเส้นทางชีวิต

คนที่เหมาะสมที่จะใช้ แนะนำว่าไม่ได้จำกัดแค่ ม.ปลายอย่างเดียว ใคร ๆ ก็สามารถใช้ได้เหมือนกัน สิ่งที่สำคัญเครื่องมือนี้ออกแบบมาเพื่อให้ตอบโจทย์ระบบการศึกษาไทยที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปสู่หลักสูตรฐานสมรรถนะ วิธีทางที่จะเข้าสู่คณะที่ใช่ วิชาที่ชอบก็ต้องไปคู่กัน ชุดคำถามเลยออกแบบภายใต้กลุ่มการเรียนรู้ (Learning area) ว่ามีขอบเขตในการเรียนรู้มิติไหนบ้าง ซึ่งเราก็ได้ออกแบบมาเป็น 7 มิติ แต่ละมิติจะไม่ได้มีแค่ศาสตร์ใด ศาสตร์หนึ่ง แต่จะมีมิติของการเชื่อมโยง อย่างเช่น เทคโนโลยีนวัตกรรม และวิศวกรรมศาสตร์ กลุ่มสร้างสรรค์ ศิลปศาสตร์ และสุนทรียะ ซึ่งกลุ่มเหล่านี้จะช่วยให้เด็ก ๆ ได้สำรวจว่ามี area ไหนบ้างที่เราอยากรู้จักเพิ่มมากขึ้น จะมีคำถามช่วยให้เห็นแต่ละ character มาชวนให้เด็ก ๆ ดูว่ามีอะไรที่เราชอบมั้ย หรือว่ากิจกรรมอะไร หรือ character แบบไหนที่ตรงกับความสนใจ ความชอบ เหมือนได้ลองคุย ลองถามตัวเราเองดูว่าเราอยากรู้จักตัวเองในมุมอื่นๆไหม

วิธีการก็คือ ต้องลองอ่านทั้งหมดด้วยตัวเอง และตอบในสิ่งที่เป็นตัวเองจริง ๆ ช่วงที่ตอบก็อาจจะต้องนึกถึงประสบการณ์ที่ผ่านมา ความรู้สึก และตัวตนของเรา ซึ่งอันนี้สำคัญมาก และให้ตอบในสิ่งที่เราเป็น ถ้าเราตอบในสิ่งที่เราคาดหวังให้เราเป็น เราอาจจะไม่ได้ตรงกับความเป็นจริงของเรา ขอให้ตอบในสิ่งทีใช่เราที่สุด จากนั้นก็จะมีวิธีการคิดคะแนน และจะมีคำแนะนำเพิ่มเติมสำหรับสิ่งที่เราอาจจะต้องไปสำรวจตัวเองเพิ่มเติม ผลประเมินทั้งหมดที่เกิดขึ้น สะท้อนการเรียนรู้ของเรา และการรับรู้ของเรา ณ ปัจจุบัน ไม่ได้แปลว่าจะเอาไปตัดสินชีวิตเราทั้งหมด การแปลคะแนนจะเน้นย้ำว่า เป็นการแนะนำในเชิงพัฒนา ไม่ใช่การตัดสิน อยากให้น้อง ๆ ลองทำให้หลากหลายมิติ ถือว่าเป็นการเปิดประตูมาค้นพบตัวเองในอีกมิติใหม่ที่เราอาจจะไม่เคยรู้มาก่อน ผ่านแบบสำรวจตัวนี้

อ.อมรรัตน์ สีหะปัญญา (ครูส้ม)

ครูกระบวนการ สอนวิชาวัยรุ่นศาสตร์ และวิชาเพศวิถีศึกษา โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

credit-2-2

เรื่อง :

ปริญญาพร สุทานนท์

อ่านพี่ชวนอ่านเรื่องอื่น ๆ

Scroll to Top