Food stylist หน้าที่หลักของเราคือการสร้างสรรค์จานอาหาร

Food Stylist มีหน้าที่อะไร

เรามีหน้าที่สร้างสรรค์หน้าตาของอาหาร เพื่อใช้ในการถ่ายภาพเมนูสำหรับใช้ในสื่อโฆษณาต่างๆ ตลอดจนคิดหน้าตาการจัดวางของอาหารในจานให้กับร้านอาหาร ส่วนเรื่องของสูตรอาหารไม่ใช่หน้าที่เรา หน้าที่หลักของเราคือการสร้างสรรค์จานอาหารให้ดูน่ารับประทานและน่าจดจำ ถ้าเปรียบเทียบเป็นการถ่ายภาพทางแฟชั่น เราต้องเป็นคนจัดชุดและเครื่องประดับ เพื่อรวมกันให้ดูดีและเข้ากับนางแบบ เปรียบอาหารเหมือนนางแบบ ต้องรู้ว่าอาหารแบบนี้ ร้านเป็นแบบนี้ เราต้องหาจานชามมาจัดวางอาหารยังไงให้เข้ากับคอนเซ็ปต์ของร้าน และสามารถสร้างมูลค่าให้ได้ ยกตัวอย่างเช่น เราอาจจะเคยเห็นว่าทำไมข้าวเหนียวหมูปิ้งร้านหนึ่งดูแพงกว่าข้าวเหนียวหมูปิ้งข้างทาง ซึ่งจริงๆ มันก็คือข้าวเหนียวหมูปิ้งเสียบไม้เหมือนกัน แต่ต่างกันที่การพรีเซนต์หรือรูปแบบการนำเสนอ เช่น เอาใบตองมาห่อหรือใส่ภาชนะที่ดูดีขึ้น ถ้าร้านอาหารมีหน้าตาอาหารมาอยู่แล้ว เราก็จะมีหน้าที่คิดคอนเซ็ปต์ว่าภาพรวมที่จะสื่อออกไปจะเป็นยังไง เช่น อยากเล่าเรื่องว่าร้านนี้ใช้วัตถุดิบสดจากทะเล เราก็จะนำเสนอไอเดียว่าจะเอาวัตถุดิบทะเลสดมาจัดวางยังไง วัตถุดิบทะเลนี้ไปทำเมนูอะไร เป็นต้น

เส้นทางสู่การเป็น Food Stylist

เริ่มจากการเรียนนิเทศศิลป์ Communication Design เป็นคณะที่สอนพื้นฐานศิลปะ และช่วงฝึกงานได้มีโอกาสไปฝึกงานเป็น Styling ที่นิตยสารชีวจิต พอทำไปได้สักพักเลยอยากไปลองจัดอาหาร แต่ตอนนั้นไม่รู้จักเลยว่า Food Stylist คืออะไร พอเห็นแล้วสนใจจึงไปขอลองฝึกงาน Food Stylist ค่อยๆ เรียนรู้อยู่ตลอด พอเรียนจบจึงได้ทำงานเป็น Food Stylist มาเรื่อยๆ จนถึงทุกวันนี้

คุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพ

1. เป็นคนช่างสังเกต

2. มีความเข้าใจองค์ประกอบศิลป์

3. สนใจเรื่องอาหาร 

4. มีความคิดสร้างสรรค์

5. เข้าใจส่วนประกอบของอาหาร

6. รู้ธรรมชาติของอาหาร เช่น วิธีการรับประทานให้ไม่ฝืนกับบริบทของอาหาร

7. รู้เรื่องมุมกล้องต่างๆ เช่น แสงไฟประมาณนี้จะได้ เอฟเฟคของภาพประมาณไหน

โอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ Food Stylist

ในสายอาชีพนี้ความสามารถ ประสบการณ์ รวมถึงความคิดสร้างสรรค์ มีส่วนสำคัญต่อค่าตอบแทนอย่างมาก ยิ่งในปัจจุบันการแข่งขันในสายอาชีพนี้ถือว่าค่อนข้างสูง หากใครมีประสบการณ์ มีเทคนิคเฉพาะตัวที่โดดเด่น จะทำให้เป็นที่รู้จักเร็ว โอกาสประสบความสำเร็จจะสูงกว่า 

Food Stylist ถ้าแบ่งตามสายงานก็สามารถทำได้ทั้ง

– พนักงานประจำ นิตยสารคอลัมน์อาหาร ค่าตอบแทนโดยประมาณ 15,000 บาท ขึ้นไป

– บริษัทส่วนตัว โดยมีทีมเป็นของตัวเอง จ้างโดยลูกค้าแบรนด์ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ค่าตอบแทนหลักหมื่นถึงหลักแสนบาทต่องาน

– ฟรีแลนซ์ทีมเล็กๆ ไม่เกิน 3 คน หลักพันปลายๆ ถึงหลักหมื่น

คณะที่เกี่ยวข้อง

คณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว สาขาศิลปะการประกอบและออกแบบอาหาร

– คณะอุตสาหกรรมอาหาร สาขาวิทยาศาสตร์การประกอบอาหารและการจัดการฯ

– คณะเกษตร หลักสูตรการประกอบอาหารเพื่อสุขภาพ (Culinary for Health)

– คณะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการ สาขาศิลปะและเทคโนโลยีการประกอบอาหาร

– หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีการประกอบอาหารและการบริการ

– คณะศิลปกรรมศาสตร์

– คณะมัณฑนศิลป์

– คณะนิเทศน์ศิลป์

– คณะศิลปะและการออกแบบ

– คณะวิจิตรศิลป์

ที่มาของรายได้

อาชีพนี้ขึ้นอยู่กับความชำนาญและประสบการณ์ ค่าตอบแทนอยู่ที่ประมาณ 20,000 – 100,000 บาท

* ขึ้นอยู่กับดีเทลของงานแต่ละงานและประสบการณ์การทำงาน

ขอขอบคุณ : พิมฝัน ใจสงเคราะห์ (พิมฝัน) Food Stylist

credit-2-3

เรื่อง :

กมลชนก ฉ่ำแสง

ภาพ :

อ่านพี่ขอเล่าเรื่องอื่น ๆ

Scroll to Top